วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิชา เทคโนโลยีการศึกษา (103111)

สวัสดีค่ะ นศ. กศปช. ปฐมวัย หมู่ 2 ทุกคน

ในภาคการศึกษา2/2552 นี้ ซึ่งทุกคนได้ลงทะเบียนเรียนวิชานี้กับอาจารย์ และผศ.ดร.รัฐกรณ์ วิชานี้เป็นวิชาที่ประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ จึงมีคะแนนการมอบหมายงาน 60 คะแนน และสอบปลายภาคอีก40 คะแนน เพื่อความชัดเจนสำหรับการร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน อาจารย์และผศ.ดร.รัฐกรณ์ จึงร่วมกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน และงานมอบหมาย มีรายละเอียดดังนี้

การมอบหมายงาน วิชา 103111 เทคโนโลยีการศึกษา
คะแนนระหว่างภาค 60 คะแนน

1. เวลาเรียนและความรับผิดชอบ 10 คะแนน

2. คะแนนงานปฏิบัติ 50 คะแนน
2.1 งานรายบุคคล 30 คะแนน
2.1.1 ผลิตชิ้นงานวัสดุกราฟิก
- ขยายภาพ จำนวน 1 ชิ้นงาน (10 คะแนน)
- โปสเตอร์ จำนวน 1 ชิ้นงาน (10 คะแนน)
2.1.2 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ 10 คะแนน

2.2 งานรายกลุ่ม 20 คะแนน
งานออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ 1 ชิ้นงาน (20 คะแนน)
(โดยการจัดทำเป็นโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ชิ้นงานนวัตกรรม และนำเสนอผลงานกลุ่ม)
วิธีการ
1. ให้นักศึกษาจัดแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน (รวม 8 กลุ่ม)
2. ให้นักศึกษาพิจารณาเลือกนวัตกรรมการศึกษาแบบดั้งเดิม เช่น บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการสอน แบบฝึกทักษะ หนังสืออ่านเสริม ชุดการสอน ฯลฯ มาจัดทำโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ดำเนินการผลิตนวัตกรรม และนำเสนอผลงานกลุ่มเป็นชิ้นงานนวัตกรรมที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันพัฒนาขึ้น
หรือให้นักศึกษาพิจารณาเลือกนวัตกรรมการศึกษาและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่ ทันต่อยุคสมัย เช่น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน E-Book ฯลฯ มาจัดทำโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ดำเนินการผลิตนวัตกรรม และนำเสนอผลงานกลุ่มเป็นชิ้นงานนวัตกรรมที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันพัฒนาขึ้น
3. การจัดทำโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ให้มีรายละเอียดตามหัวข้อที่ได้กำหนดให้ และยึดหลักการเขียนรายงานทางวิชาการ
4. การอ้างอิง/บรรณานุกรม ให้ยึดตามหลักการเขียนของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา (ศึกษาจากคู่มือ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา)

คะแนนสอบปลายภาค 40%

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

รายงานการประเมินผล

การสรุปรายงานการประเมินผล (report)โครงการฝึกอบรมที่ร่วมกันดำเนินการไปแล้วนั้น ในวันพุธ ที่ 27 ส.ค.51 ให้นศ.ได้ร่วมอภิปรายกลุ่ม วิเคราะห์ผลการประเมินการฝึกอบรมตามเครื่องมือที่เราได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น และเก็บข้อมูลจากผู้เข้ารับการฝึกอบรม และตัวแทนคณะทำงานที่ได้ทำการประเมินวิทยากร และพฤติกรรมผู้เข้ารับการฝึกอบรม
อาจารย์จึงสรุปเอกสารนี้ ให้เพื่อเป็นแนวทางในการสรุปรายงานผลของนศ. ขอให้นศ.ได้ทำตามคำ แนะนำ ดังนี้

รายงานการประเมินผล อาจแบ่งเป็นบท หรือตอนก็ได้ แล้วแต่ความหนาของสาระที่เขียนโดยทั่วไป จะประกอบด้วยสาระสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

บทนำ
(เป็นการให้ข้อมูลโดยย่อเกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมนั้น)
- ความเป็นมาของโครงการฝึกอบรมนั้น
- ช่วงเวลา และสถานที่ที่ดำเนินการฝึกอบรม
- วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ
- จำนวนและโปรแกรมสังกัดของนักศึกษาผู้เข้ารับการอบรม
- จุดมุ่งหมายของการประเมินผลครั้งนี้

บทที่ 1 ระเบียบวิธีการประเมินผล

1.1 วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
1.2 ขอบเขตของการประเมินผล

ข้อ 1.1 และ 1.2 ข้อมูลได้จาก “กระดาษทำการเพื่อกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล (focusing worksheet)”

วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
1. เพื่อประเมินผลการได้รับความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา
2. เพื่อประเมินผลทักษะในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา
3. เพื่อประเมินผลการเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการศึกษา


ระยะเวลาของการประเมินผล วันที่ 27 สิงหาคม 2551

ความรับผิดชอบของผู้ประเมิน
วิเคราะห์และสรุปรายงานการประเมินผลการเสนอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเป็นรายงานประเมินผลการฝึกอบรม

การเสนอรายงาน
วิเคราะห์และสรุปรายงานการประเมินผลการเสนอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเป็นการเสนอรายงานประเมินผลการฝึกอบรม


1.3 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

1.4 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
(จะวิเคราะห์ข้อมูลเรียงตามวัตถุประสงค์ของการประเมินผลแต่ละข้อ)

- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล ข้อที่ 1
“1. เพื่อประเมินผลการได้รับความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา”
- ประเด็นที่วิเคราะห์
- ผลที่พบจากการประเมิน

- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล ข้อที่ 2
“2. เพื่อประเมินผลทักษะในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา”
- ประเด็นที่วิเคราะห์
- ผลที่พบจากการประเมิน

- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล ข้อที่ 3
“3. เพื่อประเมินผลการเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการศึกษา”
- ประเด็นที่วิเคราะห์
- ผลที่พบจากการประเมิน

(สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่างๆ โดยอาจอยู่ในรูปของตารางพร้อมการอธิบายความ)

บทที่ 2 ให้นศ. นำข้อมูลที่ได้จาก แบบสังเกตการณ์แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากรและพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม และแบบประเมินผลโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ข้อ 4 (ที่ถามเกี่ยวกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการแต่ละข้อ) มาทำการวิเคราะห์ และสรุป

บทที่ 3 สรุปและข้อเสนอแนะ

3.1 สรุปผลของการประเมิน ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินผลแต่ละข้อ

3.2 สรุปข้อดี และข้อควรปรับปรุง (ของโครงการฝึกอบรมดังกล่าว)

3.3 ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับ
3.3.1 ปัญหาที่พบในการจัดโครงการดังกล่าว
3.3.2 พฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรมในโครงการฯ นี้

(ข้อ 3.3.2 ให้นศ.นำข้อมูลจาก แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากรและพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม ทั้ง 3 หัวข้อ มาวิเคราะห์และสรุป )

3.4 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการฯ (ของผู้เข้ารับการอบรมและผู้รับผิดชอบโครงการฯ เอง)

3.5 ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ

(ข้อ 3.5 ให้นศ. นำข้อมูลที่ได้จากข้อ 2. นอกจากการหัวข้อวิชาต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีทางการศึกษา สำหรับนักศึกษา คบ 5 ปี” ( ตามข้อ 1 ) ท่านคิดว่า ยังมีหัวข้อวิชาใดบ้างที่ควรเพิ่มเติม (โปรดระบุ)…..ทำให้เราได้ข้อมูลอื่นๆ ความต้องการในการฝึกอบรมของกลุ่มนศ. คบ 5 ปี

ข้อมูลที่ได้จากข้อ 5 ท่านคิดว่า เป็นการคุ้มค่าหรือไม่ ในการเข้ารับการอบรมครั้งนี้ และข้อมูลที่ได้จากข้อ 8 ข้อเสนอแนะอื่นๆ มาทำการวิเคราะห์และสรุป)

บทที่ 3 ให้นศ.นำข้อมูลจาก แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากรและพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม และแบบประเมินผลโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มาทำการวิเคราะห์และสรุป

ภาคผนวก

1. รายละเอียดโครงการฝึกอบรม หรือหลักสูตรการฝึกอบรม
2. กำหนดการของโครงการฝึกอบรม
3. รายชื่อนักศึกษาผู้เข้ารับการฝึกอบรม โปรแกรมวิชา ชั้นปี
4. รายชื่อวิทยากร ตำแหน่ง หน่วยงานที่สังกัด
5. เอกสารประกอบการฝึกอบรม
6. ผลงานของผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ หลักฐานแสดงผลงาน ..... ภาพประกอบการฝึกอบรม ....ภาพที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฟังการบรรยาย และภาพระหว่างการปฏิบัติการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษาของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ฯลฯ

ตั้งชื่อ เอกสารนี้ว่า “ประมวลภาพการปฏิบัติการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษาของผู้เข้ารับการฝึกอบรม” โดยอธิบายใต้ภาพด้วย

7. ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับปัญหาที่พบในการจัดโครงการและพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรม

(ให้นศ. สรุปออกมาเป็น...ประเด็น/เรื่อง พร้อมข้อมูลสนับสนุน ว่าได้ข้อมูลจากอะไร...เช่น จากแบบสังเกตการณ์ฯ จากการสังเกตการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ฯลฯ)

8. เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่

8.1 แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากร และพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม
8.2 แบบประเมินผลโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ

9. ประมวลภาพการดำเนินกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ได้แก่ ภาพของวิทยากร คณะผู้รับผิดชอบโครงการ ประธานในพิธีเปิด ภาพรวมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ฯลฯ โดยอธิบายใต้ภาพด้วย

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

learning atmosphere






















วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เกณฑ์การให้คะแนน

เกณฑ์การให้คะแนนการเขียนโครงการฝึกอบรม
ผลงานกลุ่มย่อย คะแนนเต็ม 20 คะแนน (100%)

1. เนื้อหาสาระ (60%) = 12 คะแนน

1.1 ความเป็นมาของโครงการ (20%) = 4 คะแนน

1.2 ความคุ้มค่า - ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ (20%) = 4 คะแนน

1.3 ความเป็นไปได้ในการบริหารโครงการ ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการก่อนการฝึกอบรม ระยะระหว่างดำเนินการฝึกอบรม และระยะหลังดำเนินการฝึกอบรมแล้ว (20%) = 4 คะแนน

2. การใช้ภาษา (20%) = 4 คะแนน

2.1 ความแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึง อ่านได้ใจความชัดเจน เขียนด้วยประโยคที่สมบูรณ์ กะทัดรัด ได้ใจความ ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คงเส้นคงวา สุภาพ และ ไม่สะดุด-ติดขัด (10%) = 2 คะแนน
2.2 การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเขียนสะกด การันต์ถูกต้อง ไม่ใช้ภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน (10%) = 2 คะแนน


3. การจัดรูปแบบ (20%) = 4 คะแนน

3.1 รูปแบบเหมาะสม หมายถึง การจัดรูปแบบการพิมพ์ในรูปแบบเดียวกันสอดคล้องกันทั้งโครงการ
มีหัวข้อหลัก หัวข้อรอง หัวข้อย่อย มีเลข-ตัวอักษรกำกับหัวข้อที่เป็นรูปแบบเดียวกัน (10%) = 2 คะแนน
3.2 ส่วนประกอบของโครงการครบถ้วน (10%) = 2 คะแนน
ได้แก่
1. ชื่อโครงการ
2. ชื่อผู้เสนอและคณะ หน่วยงานที่สังกัด
3. ความเป็นมาของโครงการ
4. วัตถุประสงค์ของโครงการ
5. แผนหลักสูตรในโครงการ
6. วิธีการดำเนินงาน
7. รายละเอียดหลักสูตรต่างๆ ที่ระบุในโครงการ ประกอบด้วย
7.1 ชื่อหลักสูตร
7.2 หลักการ เหตุผล
7.3 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
7.4 หัวข้อการฝึกอบรม
7.5 ระยะเวลา
7.6 ผู้เข้ารับการอบรม
7.7 วิทยากร
7.8 วิธีการฝึกอบรม
7.9 วัน เวลา สถานที่
7.10 ผลที่คาดว่าจะได้รับ
7.11 การประเมินผล
7.12 งบประมาณต่อหลักสูตรต่อคน
8. ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข
9. ผู้รับผิดชอบโครงการ


เกณฑ์การให้คะแนนการบริหารโครงการฝึกอบรม
(ปฏิบัติการจัดการฝึกอบรม และประเมินผล (รายกลุ่ม: กลุ่มใหญ่) คะแนนเต็ม 20 คะแนน) (100%)


1. ระยะเตรียมการก่อนการฝึกอบรม (30%) = 6 คะแนน
1.1 ติดต่อ-เชิญวิทยากร
1.2 ติดต่อสถานที่
1.3 เตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรม
1.4 คัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
1.5 จัดเตรียมงบประมาณ
1.6 ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
1.7 เตรียมเอกสารพิธีการ/หนังสือราชการ
1.8 การเตรียมสถานที่อุปกรณ์ และจัดทำป้ายต่างๆ
1.9 การเตรียมการสำหรับวันเปิดการฝึกอบรม

พิจารณาให้คะแนน ครบ 3 ข้อย่อย ได้ 2 คะแนน (ครบ 9 ข้อย่อย ได้ 6 คะแนน)

2. ระยะระหว่างดำเนินการฝึกอบรม (30%) = 6 คะแนน ได้แก่
2.1 ตรวจสอบความพร้อมทั่วๆ ไป
2.2 การลงทะเบียน
2.3 พิธีกร
2.4 การต้อนรับ
2.5 พิธีเปิด
2.6 ผู้บริหารโครงการชี้แจงรายละเอียดหลักสูตร
2.7 การแนะนำวิทยากร และกล่าวขอบคุณ
2.8 การเตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรมให้พร้อม
2.9 การอำนวยความสะดวก


พิจารณาให้คะแนน ครบ 3 ข้อย่อย ได้ 2 คะแนน (ครบ 9 ข้อย่อย ได้ 6 คะแนน)

3. ระยะหลังดำเนินการฝึกอบรมแล้ว (40%) = 8 คะแนน ได้แก่

3.1 การประเมินผลโครงการฝึกอบร(20%) = 4 คะแนน ได้แก่
1. กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล (focus)
2. วางแผนการประเมิน (plan)
3. ดำเนินการตามแผน (implement)

3.2 สรุปรายงานการประเมินผล (report) (20%) = 4 คะแนน ประกอบด้วย

บทนำ (2%) = 0.4 คะแนน
- ความเป็นมาของโครงการฝึกอบรมนั้น
- ช่วงเวลา และสถานที่ที่ดำเนินการฝึกอบรม
- วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ
- จำนวนและหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เข้ารับการอบรม
- จุดมุ่งหมายของการประเมินผลครั้งนี้

บทที่ 1 ระเบียบวิธีการประเมินผล (4%) = 0.8 คะแนน
- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
- ขอบเขตของการประเมินผล
- วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
- วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล (4%) = 0.8 คะแนน
สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่างๆ โดยอาจอยู่ในรูปของตารางพร้อมการอธิบายความ

บทที่ 3 สรุปและข้อเสนอแนะ (6%) = 1.2 คะแนน
- สรุปผลของการประเมิน ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินผลแต่ละข้อ
- สรุปข้อดีและข้อควรปรับปรุง (ของโครงการฝึกอบรมดังกล่าว)
- ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับ
- ปัญหาที่พบในการจัดโครงการดังกล่าว
- พฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรมในโครงการฯ นี้
- ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ
- ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการฯ (ของผู้เข้ารับการอบรมและของผู้ประเมินเอง)

ภาคผนวก (4%) = 0.8 คะแนน
ได้แก่
1. รายละเอียดโครงการฝึกอบรม หรือหลักสูตรการฝึกอบรม
2.กำหนดการของโครงการฝึกอบรม
3. รายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม และรายชื่อวิทยากร ตำแหน่ง หน่วยงานที่สังกัด
4. ผลงานของผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ ชิ้นงาน สรุปรายงาน (เป็นเอกสาร หรือภาพประกอบ)
5. ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับปัญหาที่พบในการจัดโครงการและพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรม
6. เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบความรู้ แบบประเมินผลต่างๆ




วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเขียนรายงานเชิงวิชาการ

ดร. สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ
การเขียนรายงานเป็นการนำเสนอผลจากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย จึงจำเป็นต้องมีระบบการนำเสนอที่มีหลักการ มีเหตุมีผล และผู้เขียนรายงานนั้น จะต้องอาศัยความรอบรู้ ประสบการณ์ ทักษะ และการหมั่นฝึกฝนการเขียนอยู่เสมอ เพื่อให้รายงานทางวิชาการที่เขียนขึ้นมีคุณภาพ เชื่อถือได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ในที่นี้ ผู้เขียนจะนำเสนอ สาระสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการเขียนรายงานเชิงวิชาการ ดังนี้
รายงานเชิงวิชาการ เป็นรายงานที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ซึ่งมีระเบียบวิธีการที่เป็นระบบ และมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เนื้อหาของรายงานมุ่งเสนอแต่ผลที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า ไม่มีการต่อเติม เสริมแต่งความรู้สึกนึกคิดของผู้รายงานรวมเข้าไปด้วยแต่อย่างใด
รายงานประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ
1. ส่วนนำ (Preliminary Materials) เป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอรายงานเชิงวิชาการนั้น
2. ส่วนเนื้อเรื่อง (Body of Report) เป็นส่วนที่จะกล่าวถึงเนื้อเรื่องของรายงานเชิงวิชาการนั้นทั้งหมด
3. ส่วนอ้างอิง (Reference Materials) เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมให้รายงานเชิงวิชาการนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการเขียนรายงาน
ผู้เขียนรายงานวิชาการ ควรเริ่มการดำเนินกาอย่างเป็นขั้นตอน ตามลำดับเพื่อสะดวกในการเขียน ได้แก่ กำหนดหัวข้อเรื่อง กำหนดขอบเขตและทำความเข้าใจกับหัวข้อเรื่อง วางโครงเรื่อง รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร/แหล่งสารสนเทศต่างๆ รวบรวมข้อมูลภาคสนาม เขียนฉบับร่าง แก้ไขและขัดเกลา ส่งให้เพื่อน และผู้รู้อ่าน เพื่อวิจารณ์ และขั้นสุดท้าย คือ เขียนฉบับสมบูรณ์

หลักการเขียนรายงาน
1. การจัดรูปแบบ หมายถึง ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามมหาวิทยาลัย/สถาบันได้กำหนด โดยมีหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง หัวข้อย่อย โดยจัดวางสอดคล้อง
กันทั้งเล่ม เช่น กำหนดเลข-ตัวอักษรกำกับหัวข้อในรูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม

หัวข้อใหญ่ (ตัวอักษรหนาดำ 16 Point)
1. หัวข้อรอง (ตัวอักษรหนาดำ 16 Point)
1.1 หัวข้อย่อย
1.1.1 หัวข้อย่อย
1.1.1.1 หัวข้อย่อย
ก.
ข.
1)
2)
3)

2. ความเป็นเอกภาพของเนื้อหา หมายถึง การเรียบเรียงเนื้อหาในรายงานตั้งแต่ต้นจนจบจะต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอด ไม่ว่าจะแบ่งเป็นบท หรือเป็นหัวข้อ แต่ละบท แต่ละหัวข้อจะต้องสอดคล้องต่อเนื่องกันกับบทหรือหัวข้ออื่นๆ ต่อๆ กันไป ไม่ควรนำเพียงแต่ข้อมูล เนื้อหาต่างๆ มาปะติดปะต่อกัน
3. ความแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึง ข้อความทุกประโยค ทุกหัวข้อ ทุกตอนจะต้องแจ่มแจ้ง และอ่านได้ใจความชัดเจน เขียนด้วยประโยคสมบูรณ์ สั้นกระทัดรัด ได้ใจความ และการใช้ภาษาในการเขียนรายงาน มีความถูกต้อง ได้สาระสมบูรณ์ ชัดเจน กะทัดรัด ลำดับความดี แต่ละวรรคตอนเป็นเอกภาพ ความแต่ละวรรคตอน เชื่อมโยงกลมกลืนสัมพันธ์กันดี คงเส้นคงวา ตรงประเด็นตรงจุด ถ้อยคำมีเหตุผลน่าเชื่อถือได้ สุภาพ และลื่นไหล ไม่สะดุด-ติดขัด
4. ความถูกต้อง หมายถึง เนื้อหา ภาษาที่ใช้จะต้องถูกต้องตามหลักวิชาและมีเหตุมีผล
5. ตรงประเด็น หมายถึง เรียบเรียงข้อความ เนื้อหาให้ตรงประเด็นที่ต้องการเสนอ ต้องการอะไร ให้นำเสนอไปอย่างนั้น ไม่ต้องเขียนวกวนไปเวียนมา จนหาข้อสรุปไม่ได้ และไม่ควรตั้งหัวข้ออย่างหนึ่ง แล้วเขียนไปอีกอย่างหนึ่ง
6. ความสำรวม หมายถึง ข้อความทุกข้อความ ทุกประโยค หรือทุกตัวอักษรที่เขียนในรายงานต้องสำรวม ระมัดระวัง พิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน และรอบคอบแล้วว่า มีความถูกต้อง มีเหตุผลเพียงพอ และไม่ขัดแย้งกัน
7. การอ้างอิง หมายถึง การอ้างอิงต้องทำอย่างถูกต้องตามสากลนิยม ถูกต้องตามหลักการ ทั้งนี้ให้ยึดเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย/สถาบันกำหนด และผู้เขียนรายงาน พึงตระหนักถึงจรรยาบรรณ เมื่อมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นต้องอ้างอิงถึงเจ้าของผลงานทุกครั้ง
8. ยึดผู้อ่าน หมายถึง การเขียนรายงานที่ผู้เขียนต้องพยายามอธิบาย บรรยายด้วยภาษาที่ง่าย และให้มีเนื้อหาอย่างเพียงพอที่ผู้อื่นมาอ่านแล้วเขาจะสามารถทำความเข้าใจได้ พึงระลึกว่า “เราเขียนให้ผู้อื่นอ่านมิใช่ให้ตนเองอ่าน”
9. ทันสมัย หมายถึง เนื้อหาสาระในรายงานมีความทันสมัย ทันกาล มีการปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบันในเชิงวิชาการ การพัฒนาในศาสตร์สาขานั้นๆ

สรุป
การเขียนรายงานเชิงวิชาการให้มีคุณภาพได้นั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนตามลำดับ ศึกษา ค้นคว้าสารสนเทศจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ เช่น เป็นผลงานของสถาบัน/องค์กรที่เชื่อถือได้ เป็นผลงานของบุคคลที่ได้รับการยอมรับในศาสตร์สาขานั้นๆ ฯลฯ และผู้เขียนรายงานจะต้องหมั่นฝึกฝนทักษะในการอ่าน วิเคราะห์ สังเคราะห์ และทักษะการเขียน และทำการเขียนรายงานโดยยึดหลักการเขียนรายงานที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ การนำเอกสาร หรือสารสนเทศจากแหล่งต่างๆ มาทำการศึกษาจึงควรพิจารณาในเงื่อนไขด้านเวลาด้วย เช่น การอ้างอิงจากหนังสือไม่ควรเกิน 10 ปี จากเว็บไซต์ หรือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ควรเกิน 5 ปี และจากรายงานวิจัยไม่ควรเกิน 5 ปี

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กำหนดการนำเสนอโครงการ

สวัสดีค่ะ นักศึกษาเทคโนฯ ทุกคน
อาจารย์แจ้งกำหนดการนำเสนอโครงการ รายกลุ่ม(ย่อย) ในวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2551 นะคะ แล้วพวกเราจะพิจารณาร่วมกันว่าโครงการของกลุ่มไหน มีความเหมาะสม เป็นไปได้สูง คุ้มค่าที่สุด ที่จะได้รับเลือกไปจัดฝึกอบรม ซึ่งเป็นงานกลุ่มใหญ่ ที่นักศึกษาทุกคนต้องช่วยกันดำเนินการให้ลุล่วงด้วยดี ทั้งด้านการบริหารโครงการ ก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการฝึกอบรม ทำการประเมินผลฯ พร้อมสรุปผลการประเมินผลการดำเนินการจัดฝึกอบรมด้วย ทั้งนี้จะทำเป็นรูปเล่มรายงาน
ช่วงนี้เราจะมีกิจกรรมการทัศนศึกษาในวันที่ 14-15 สิงหาคมนี้ ที่กทม และไปพักผ่อนชายทะเลที่สถานพักตากอากาศบางละมุง ก็ให้นักศึกษาเร่งเคลียร์งานของแต่ละวิชาให้ดี อะไรที่พอจะจัดทำล่วงหน้าไว้ก่อนได้ก็ให้ทำซะ บริหารเวลาให้ดี อย่าให้ต้องไปเที่ยวแบบมีห่วงหน้าพะวงหลัง หรืองานค้างต้องมารีบลุยงานเพื่อให้ทันส่ง อาจารย์หวังว่าทุกคนจะรับผิดชอบตัวเองได้ แบ่งเวลาในการเรียนและทำกิจกรรมได้เหมาะสม
อาจารย์ขอฝากเรื่องแต่งกายด้วย ให้นักศึกษาแต่งชุดนักศึกษาที่ถูกระเบียบ (ห้ามใส่เสื้อชอป กางเกง กระโปรงยีนส์ ใส่รองเท้าแตะ) ในการไปศึกษาดูงานของเรา โดยเฉพาะเราเป็นรุ่นพี่เมื่อไปกับรุ่นน้องต้องแต่งตัวให้มีบุคลิกลักษณะที่เป็นแบบอย่างให้น้องได้ วางตัวให้เหมาะสมกับเป็นนักศึกษาในวิชาชีพครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง อยากให้พวกเราภูมิใจในสถาบัน การที่ได้แต่งชุดนักศึกษาถือว่าเป็นชุดที่มีเกียรติ ดังนั้นนักศึกษาควรตระหนักด้วยในเรื่องนี้
อาจารย์เข้าใจว่า บางทีคนเราก็อยากแต่งตัวสบายๆ แต่ต้องให้ถูกกาละเทศะด้วย เวลาไม่มีเรียน นอกเวลาราชการ นอกสถาบัน ในเวลาพักผ่อนของเราๆ จะแต่งยังไงก็ไม่ว่าหรอก เต็มที่เลย แฟชั่นได้เต็มที่ แต่ขอแค่ให้ถูกกาละเทศะ เวลามาเรียน หรืออยู่ในสถานที่ราชการ นักศึกษาต้องรู้ว่าเราควรทำอย่างไรนะคะ ต่อไปก็หวังว่าจะไม่มีใครที่แต่งตัวไม่เรียบร้อยมาเรียนให้อาจารย์เห็นนะคะ ไม่อยากให้ใครมาว่านักศึกษาโปรแกรมเทคโนฯ ให้เขาไปยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยอื่นล่ะกัน คิดว่าคงไม่หนักหนาเกินไปนะ ในเรื่องนี้ที่เราจะทำให้ถูกต้องตามระเบียบ พวกเราน่ารักอยู่แล้ว แค่นี้จิ๊บๆๆ ใช่ไหม

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

แจ้งเรื่องงาน

นักศึกษาเทคโนฯทุกคน
ช่วงนี้วันหยุดก็เยอะนะคะ และที่จะหยุดเรียนครั้งหน้าศ. 18 ก.ค.51 ก็อย่ากลับบ้าน ทำบุญ- เที่ยวเพลินจนลืมทำงานส่งด้วยละ ต่อไปก็มีงานกลุ่มที่ต้องช่วยกันทำโครงการฝึกอบรม อย่าใจเย็นมากนะคะ เดี๋ยวจะทำไม่ทัน วันศุกร์ที่ 25 อย่ามามือเปล่านะ มาเปล่าๆ ก็กลับไปเปล่าๆ พออีกสัปดาห์จะต้องนำเสนอจะไม่มีอะไรมานำเสนอ หวังว่าพวกเราจะช่วยเหลือกันทำงานกลุ่มโดยไม่กินแรงเพื่อน ขอให้อย่ามีประเภท "ขอฝากชื่อด้วยคน" นะคะ
งานที่ต้องส่งตามกำหนดอีกครั้งคือ จันทร์ที่ 14 (รายบุคคล) และงานกลุ่มที่ส่งหัวเรื่องโครงการ ก็ขอให้ส่งตามกำหนดนะคะ
การสืบค้นงานวิจัยเกี่ยวกับTNA, TNI ให้นักศึกษาค้นในThailis ก็ได้ โดยใช้คำค้น "ความต้องการในการฝึกอบรม" มีออกมามากมาย ส่วนงานวิจัยต่างประเทศหาในฐานข้อมูล ERIC ก็ได้ มีเยอะแยะเช่นเดียวกัน

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

7 ก.ค.51

นศ. ที่น่ารักทุกคน
ต้องขอชื่นชมนักศึกษาที่ขยัน ตั้งใจทำงานส่งครบตามกำหนด จะผิดก็ไม่เป็นไร แก้ไขได้ และอาจารย์ก็จะได้เห็นพัฒนาการด้วยว่าเป็นอย่างไร เรียนเข้าใจไหม ส่วนบางคนที่ทำงานส่งช้า ตกหล่น ก็เปิดโอกาสให้รีบเก็บตกส่งให้ครบในวันพฤหัสที่ 10 นี้ เลยกว่านี้อาจารย์จะไม่รับแล้วนะ เพราะนี่ก็เกรงใจคนที่เขาส่งตามเวลา เขาจะเสียโอกาส แต่พวกเราก็รักกันดียอมให้เพื่อนส่งช้า เก็บตกได้ ถือเป็นความน่ารักอย่างหนึ่งของพวกเรา เอาน่า .... ช่วยๆกัน ใครเรียนช้าไม่ทัน ก็ถามเพื่อนที่เขาเก่งๆ ทำงานออกมาใช้ได้ เช่น พัลลภ ภานุวัฒน์ ตวงรัตน์ ก็ช่วยแนะนำเพื่อนที่ทำงานไม่ทันด้วยนะคะ
ภาระงานจะเริ่มมากขึ้นๆ เวลาน้อยลงทุกที กิจกรรมอื่นๆ ก็เข้ามาอีก ที่กระทบเวลาเรียน ก็เช่นวันหยุด และวันไปศึกษาดูงานพฤ14-ศ15 ส.ค.51 หลายคนถามทำไมไปน้อยจัง อยากไปตั้งแต่พุธเลย เพราะว่าไม่มีเรียน ก็เพราะ11-13 สค. อาจารย์ทุกคนในโปรแกรมติดภารกิจเป็นวิทยากรอบรมครูฯ ยังไงก่อนไปก็คงต้องคุยกันอีกก่อนไปดูงาน ไม่ใช่ไปสนุกอย่างเดียวนะ ต้องได้ประโยชน์เชิงวิชาการด้วย
ก่อนจบ..ก็ให้นักศึกษารักษาสุขภาพด้วยละกัน ช่วงนี้อากาศร้อน ให้ระมัดระวังเรื่องอาหาร นี่อาจารย์ก็ยังไม่หายดีเลย อาหารเป็นพิษ ปวดท้อง ไข้ขึ้นทุก4 -5 ชั่วโมง พอทานยา ไข้ลด ก็ลุกมาทำงาน ไม่ต้องดีใจว่าจะหยุดเรียนนะคะ อาจารย์หายป่วยทันอยู่แล้วเราพบกันในชั้นเรียนวันศุกร์นะคะ

วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551

30 มิถุนายน 2551

สวัสดีค่ะ
นักศึกษาทุกคน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การเรียนในเดือนหนึ่งที่ผ่านไป ไวหรือเปล่า เผลอแป๊บๆ หมดฤดูกาลรับน้องแล้ว หวังว่า พี่ๆ ที่น่ารักจะกลับมาตั้งใจเรียนให้เป็นตัวอย่างทีดีของน้องๆ การร่วมกิจกรรมต่างๆ กับการเรียนนั้นต้องควบคู่กันไป อยากให้นักศึกษาแบ่งเวลาให้เป็น ระหว่างการเรียน กิจกรรม และบันเทิง อย่าสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง...มันไม่ดี ชีวิตจะขาดรสชาดไป เวลาในการเรียนระดับป.ตรีนี้ สนุกสุดๆ แล้วนะ อาจารย์คิดเช่นนี้ อาจเพราะอยู่ในช่วงวัยที่ยังอยากจะสนุกสนาน พออายุมากกว่านี้ เรียนระดับสูงขึ้น ก็มีภาระงานเข้ามา หรือบางคนก็มีภาระครอบครัว คงจะไม่เหมือนเวลาเช่นนี้หรอก ก็ขอให้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ละกัน แล้วก็อย่าลืมทำการบ้าน ทำรายงานส่งอาจารย์ในทุกๆ วิชาด้วยละ สำหรับวิชาฝึกอบรมฯ ก็ใกล้แล้วนะที่จะต้องส่งโครงการ ก็ปรึกษากับเพื่อนในกลุ่มได้แล้ว อย่าปล่อยให้จวนตัว เดี๋ยวจะทำไม่ทันกาล เพราะว่าเราจะมีกิจกรรมอีกหลายรายการ เช่น การไปทัศนศึกษาของโปรแกรมเทคโนฯ ปี1 และปี3 (คิดออกยังจะไปกันที่ไหน แต่ฟังๆ เสียงส่วนใหญ่ อยากไปทะเลกันล่ะนะ ส่วนงานเกษียณฯ ที่จะจัดแบบประชุมวิชาการในภาคเช้า และภาคกลางคืนเป็นงานเลี้ยง+มุฑิตาจิต พวกเราก็จะต้องมีส่วนร่วมช่วยกันทำให้งานสำเร็จ เรียบร้อยและงานพระราชทานปริญญาบัตร กำหนดการยังไม่แน่ชัด (ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยจะปิดการเรียนการสอน พวกเราหลายๆ คน ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านโสตฯ ในงานนี้อีก) กิจกรรมเยอะเลยนะ ก็ขอให้นักศึกษาวางแผนการเรียน และการทำงานส่งแต่ละรายวิชาให้ดีนะคะ
นักศึกษาคนไหนมีปัญหาสงสัยในการเรียน ก็หาเวลามาคุยกับอาจารย์ได้ โทรนัดก่อนล่ะกัน ยินดีเสมอค่ะ

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเรียนในสัปดาห์ที่ 2

ศุกร์ 13 มิถุนายน 2551
สวัสดีค่ะ นักศึกษาทุกคน วันนี้เป็นการเรียนในครั้งที่สองแล้วนะคะ นักศึกษาก็จะได้รับงานที่จัดส่งแล้วอาจารย์ตรวจให้ พร้อมcomment ก็พบข้อบกพร่องบ้าง เป็นเรื่องปกตินะ แต่คิดว่านักศึกษาจะปรับปรุงให้งานครั้งต่อไปมีคุณภาพมากขึ้น ตามคำแนะนำ ครั้งแรกก็ถือว่ายกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อน ชิมลางไปก่อนนะคะ
การเรียนการสอนในครั้งนี้ อาจารย์ได้บรรยายถึงหลักจิตวิทยาในการฝึกอบรม และหลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งเหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ และก็ได้ฝึกให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม PL ในการทำกิจกรรมกลุ่ม (ซึ่งในblog นี้อาจารย์ก็ได้อัพโหลดบทความให้นักศึกษาได้เข้าไปศึกษาเพิ่มเติมด้วย) นักศึกษาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้อ่านบทความวิจัย กิจกรรมของเราจึงสะดุดบ้าง แต่ถือว่าได้ฝึกลองอ่าน จับประเด็น ทำความเข้าใจ และวิพากษ์งานวิจัย ในประเด็นสำคัญของการนำทฤษฎีจิตวิทยาการฝึกอบรมมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม (ชื่อเรื่องงานวิจัยที่นำมาให้นักศึกษาได้อ่าน ชื่อ การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเทคนิคการสอนความคิดสร้างสรรค์สำหรับครูประถมศึกษา ) ไม่เป็นไรนะคะ หากครั้งแรก อาจจะอ่านยากไปนิด แต่พอคุ้นเคย พอนักศึกษาค้นคว้างานวิจัยในชิ้นต่อๆ ไปจะได้อ่านคล่องขึ้นแล้วสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง การศึกษาค้นคว้าอ่านงานวิจัยมากๆ ทำให้ได้ความรู้แบบสำเร็จรูป งานวิจัยที่มีคุณภาพในแต่ละเรื่องผ่านกระบวนการศึกษามาไม่ง่ายเลย ก็เป็นทางลัดที่จะศึกษาในประเด็นที่สนใจได้ไว และไปค้นหาถึงแหล่งต้นตอของศาสตร์นั้นๆ ได้อีก
งานมอบหมายครั้งนี้ ก็เป็นการสรุปทฤษฎีจิตวิทยาในการฝึกอบรมมาส่ง 8 ทฤษฎี (โดยไม่ลอกชีสอาจารย์มาส่ง ให้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ) พร้อมอ้างอิงให้ถูกต้องตามหลักคู่มือบัณฑิตวิทยาลัย ส่งวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2551 นะคะ

หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

ดร.สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ

หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning: PL) ซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (2544 : 8 - 21) ได้สรุปหลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ไว้ดังนี้
หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีพัฒนาการจากการที่นักปรัชญาการศึกษา Deweyian
ได้เริ่มใช้วิธีการเรียนรู้จากการกระทำ (learning by doing) ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ดึงความสามารถของผู้เรียนออกมาในรูปของการเรียนรู้ ที่เรียกว่า active learning ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหามากขึ้น และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมในการเรียนการสอน ในเวลาต่อมาจึงพัฒนาเป็นรูปแบบการเรียนรู้โดยการแก้ปัญหา (problem solving) การเรียนรู้โดยร่วมมือกัน (cooperative learning) เช่น รูปแบบการสอนที่เรียกว่า problem based solving (PBL)
ในทศวรรษที่ 80 ได้มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (learning process) รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning) ซึ่ง Kolb (1984 อ้างถึงใน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2544 : 8) ได้เสนอว่า ประสบการณ์เป็นแหล่งของการเรียนรู้และพัฒนา Kolb’s model เป็นวงจรของการเรียนรู้ ที่การได้รับความรู้ ทัศนคติ และทักษะจะอยู่ในกระบวนการ 4 องค์ประกอบของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ได้แก่ ประสบการณ์เชิงรูปธรรม (concrete experience) การสังเกตอย่างไตร่ตรอง (reflective observation) มโนทัศน์เชิงนามธรรม (abstract conceptualization) และการทดลองปฏิบัติ (active experimentation)
การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning) ของ Kolb นี้ได้มีนักการศึกษาและนักฝึกอบรมได้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม (active learning) และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีชื่อเรียกในหลายชื่อ เช่น experimential learning , prior learning และ participatory learning
การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) เป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคคลทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ และทักษะได้เป็นอย่างดี ผ่านการสังเคราะห์จากผลวิเคราะห์ของการศึกษาวิจัยรูปแบบการเรียนรู้หลายรูปแบบ (meta analysis) จนได้โครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งประกอบด้วย วงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning) ผสมผสานกับกระบวนการกลุ่ม (group process) เพราะในแต่ละองค์ประกอบของวงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์นั้น ผู้เรียนแต่ละคนซึ่งมีประสบการณ์ติดตัวมา จะสามารถใช้ประสบการณ์ของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนทดลองใช้ความรู้ที่เรียนมาไปสู่การปฏิบัติได้ดีนั้น ต้องผ่านกระบวนการกลุ่ม ฉะนั้นการให้ผู้เรียนได้ทำงานเป็นกลุ่ม จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และช่วยกันทำงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยดี

หลักการสำคัญของ (participatory learning)

การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ + การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม


1) การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning)

เป็นการเรียนรู้ที่ผู้สอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้จากประสบการณ์เดิม มีลักษณะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1. เป็นการเรียนรู้ที่อาศัยประสบการณ์ของผู้เรียน
2. ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) คือ ผู้เรียนต้องทำกิจกรรมตลอดเวลา ไม่ได้นั่งฟังการบรรยายอย่างเดียว
3. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
4. ปฏิสัมพันธ์ที่มีทำให้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายความรู้ที่ทุกคนมีอยู่ออกไปอย่าง กว้างขวาง
5. อาศัยการสื่อสารทุกรูปแบบ เช่น การพูด หรือการเขียน การวาดรูป การแสดงบทบาทสมมุติ ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยน การวิเคราะห์ และสังเคราะห์การเรียนรู้
องค์ประกอบของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์

Kolb (1984 อ้างถึงในกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2544 : 14 -16) ได้กล่าวถึง วงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 4 องค์ประกอบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ผู้เรียนควรมีทักษะการเรียนรู้ ทั้ง 4 องค์ประกอบ แม้บางคนจะชอบ/ถนัด หรือ มีบางองค์ประกอบมากกว่า เช่น เคยมีประสบการณ์จริง แต่ถ้าไม่ชอบแสดงความคิดเห็นหรือไม่นำประสบการณ์มาร่วมอภิปราย ผู้เรียนนั้นจะขาดการมีทักษะในองค์ประกอบอื่น ฉะนั้น ผู้เรียนควรมีทิศทางการเรียนรู้ทุกด้าน และควรมีพัฒนาการเรียนรู้ให้ครบทั้งวงจร หรือทั้ง 4 องค์ประกอบ ดังนี้

ประสบการณ์ (experience)
การสะท้อน/อภิปราย (reflection/discussion)
การทดลอง/ประยุกต์แนวคิด
(experimentation/application)
ความคิดรวบยอด (concept)


1. ประสบการณ์ (experience) ในการฝึกอบรมเนื้อหาที่ใช้ในการให้ความรู้ หรือนำไปสู่การสอนทักษะต่างๆส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผู้เรียนมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว เช่น ฝึกอบรมเกี่ยวกับการประเมินโครงการให้แก่นักวิชาการ จะเห็นได้ว่าผู้เรียน คือ นักวิชาการ จะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการประเมินในกิจกรรมอื่นๆมาก่อน ซึ่งนำมาใช้ในการอบรมครั้งนี้ได้ องค์ประกอบที่เป็นประสบการณ์นี้ ผู้สอนจะพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนซึ่งมีประสบการณ์ดังที่กล่าวแล้ว ได้ดึงประสบการณ์ของตัวเองออกมาใช้ในการเรียนรู้ และสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองที่มีให้แก่เพื่อนๆที่อาจมีประสบการณ์ที่เหมือน หรือต่างไปจากตนเองได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้กระบวนการกลุ่มของผู้สอน การที่ผู้สอนพยายามให้ผู้เรียนได้ดึงประสบการณ์มาใช้ในการอบรมจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้สอน และผู้เรียน ดังนี้

ผู้เรียน การที่ผู้เรียนได้ดึงประสบการณ์ของตัวเองออกมานำเสนอร่วมกับเพื่อนๆ จะทำให้
ผู้เรียนรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง มีความสำคัญที่มีคนฟังเรื่องราวของตนเอง และได้มีโอกาสรับรู้เรื่องของคนอื่น ซึ่งจะทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ทำให้สัมพันธภาพในกลุ่มผู้เรียนเป็นไปด้วยดี
ผู้สอน ไม่ต้องเสียเวลาในการอธิบาย หรือยกตัวอย่างให้ผู้เรียนฟัง เพียงแต่ใช้เวลาเล็กน้อยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เล่าประสบการณ์ของตนเอง ผู้สอนอาจใช้ใบชี้แจงกำหนดกิจกรรมของผู้เรียนในการนำเสนอประสบการณ์ ในกรณีที่ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ในเรื่องที่จะสอนหรือมีน้อย ผู้สอนอาจจะยกกรณีตัวอย่าง หรือสถานการณ์ก็ได้


2. การสะท้อน และอภิปราย (reflection and discussion) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผู้เรียนจะได้แสดงความคิดเห็น และความรู้สึกของตนเองแลกเปลี่ยนกับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดประเด็นการ วิเคราะห์ วิจารณ์ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ถึงความคิด ความรู้สึกของคนอื่นที่ต่างไปจากตนเองจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น และผลของการสะท้อนความคิดเห็น หรือการอภิปรายจะทำให้ได้ข้อสรุปที่หลากหลาย หรือมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ขณะทำกลุ่มผู้เรียนจะได้เรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีม บทบาทของสมาชิกที่ดีที่จะทำให้งานสำเร็จ การควบคุมตนเอง และการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น องค์ประกอบนี้ จะช่วยทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้งด้านความรู้ และเจตคติ ในเรื่องที่อภิปราย การที่ผู้เรียนจะอภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นได้มากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามเนื้อหาที่จะสอนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับใบงานที่ผู้สอนจัดเตรียม ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นอภิปราย หรือตารางการวิเคราะห์เพื่อให้ผู้เรียนทำได้สำเร็จ

3. ความคิดรวบยอด (concept) เป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิชา หรือเป็นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย (knowledge) เกิดได้หลายทาง เช่น จากการบรรยายของผู้สอน การมอบหมายงานให้อ่านจากเอกสาร ตำรา หรือได้จากการสะท้อนความคิดเห็น และอภิปรายในองค์ประกอบที่ 2 โดยผู้สอนอาจจะสรุปความคิดรวบยอดให้จากการอภิปราย และการนำเสนอของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ผู้เรียนจะเข้าใจและเกิดความคิดรวบยอด ซึ่งความคิดรวบยอดนี้จะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงเจตคติ หรือความเข้าใจในเนื้อหาขั้นตอนของการฝึกทักษะต่างๆ ที่ช่วยทำให้ผู้เรียนปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

4. การทดลอง/การประยุกต์แนวคิด (experimentation / application) เป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนได้ทดลองใช้ความคิดรวบยอดหรือผลิตขั้นความคิดรวบยอดในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนทนา สร้างคำขวัญ ทำแผนภูมิ เล่นบทบาทสมมุติ ฯลฯ หรือเป็นการแสดงถึงผลของความสำเร็จของการเรียนรู้ในองค์ประกอบที่ 1 ถึง 3 ผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ ในการประเมินผลการเรียนการสอนได้ เช่น ถ้าวัตถุประสงค์ของการอบรม ตั้งไว้ว่าให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถวางแผนประเมินโครงการได้ กิจกรรมในการเรียนรู้ขององค์ประกอบนี้ ผู้สอนต้องเตรียมใบงานให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทดลองทำแผนการประเมินโครงการ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะต้องนำความรู้เกี่ยวกับการประเมินโครงการจากการเรียนรู้ในองค์ประกอบความคิดรวบยอดมาใช้
การเรียนการสอน หรือการอบรมส่วนใหญ่ มักจะขาดองค์ประกอบการทดลอง/ประยุกต์
แนวคิด ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ผู้สอนจะได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้ ไม่ใช่เรียนแค่รู้ แต่ควรนำไปใช้ได้จริง
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือการอบรมแบบมีส่วนร่วม จำเป็นต้องจัดกิจกรรมให้ครบทั้ง 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบทั้ง 4 มีความสัมพันธ์เป็นไปอย่างมีพลวัตร (dynamic) เกี่ยวข้องมีผลถึงกัน ผู้สอนจะเริ่มจากจุดใดก่อนก็ได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากประสบการณ์ (experience) หรือความคิดรวบยอด (concept) ซึ่งทั้ง 2 องค์ประกอบจะช่วยให้ผู้เรียนได้ดึงข้อมูลเก่าหรือรับข้อมูลใหม่บางส่วนก่อนเพื่อนำไปสู่การอภิปราย และการประยุกต์ใช้ ระยะเวลาแต่ละองค์ประกอบ ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ผู้สอนจัดได้ตามความเหมาะสมของกิจกรรมในแต่ละองค์ประกอบ เช่น ถ้าเนื้อหาที่สำคัญมากก็อาจใช้เวลามาก หรือถ้าผู้สอนมีประเด็นในการอภิปรายที่สำคัญและมาก ก็อาจใช้เวลาในการอภิปรายมากกว่าส่วนขององค์ประกอบความคิดรวบยอด

2) การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม (group process)

การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม (group process) เป็นการเรียนรู้พื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อประกอบไปกับการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experimential learning) กระบวนการกลุ่มจะช่วยทำให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมสูงสุด และทำให้บรรลุงานสูงสุด
การมีส่วนร่วมสูงสุด (maximum participation) ของผู้เรียน ขึ้นอยู่กับการออกแบบกลุ่ม
ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มเล็กสุด คือ 2 คน จนกระทั่งกลุ่มใหญ่ กลุ่มแต่ละประเภทมีข้อดี และข้อจำกัดต่างกัน

ผู้เรียนทุกคนควรมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของแต่ละองค์ประกอบ ฉะนั้นผู้สอนจึงต้องพิจารณาตามจำนวน
ผู้เรียน
การบรรลุงานสูงสุด (maximum performance) ถึงแม้ผู้สอนจะออกแบบกลุ่มให้ผู้เรียน
ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมแล้วก็ตาม แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้กลุ่มผู้เรียนบรรลุงานสูงสุดได้ คือ การออกแบบงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้สอนจะต้องจัดทำเป็นใบงานที่กำหนดให้กลุ่ม หรือผู้เรียนทำกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแผนการสอน สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการบรรลุงาน

สูงสุด ผู้เรียนสามารถกำหนดได้จากการออกแบบงาน ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญของการกำหนดงาน
3 ประการ ดังนี้
1. การกำหนดกิจกรรมที่ชัดเจนว่าจะให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มกันอย่างไร เพื่อทำอะไร ใช้เวลามากน้อยแค่ไหน เมื่อบรรลุงานแล้วจะให้ทำอะไรต่อ เช่น การเสนอผลงานหน้าชั้น
2. การกำหนดบทบาทของกลุ่มหรือสมาชิกให้ชัดเจน โดยทั่วไปกำหนดบทบาทในกลุ่มย่อยควรให้แต่ละกลุ่มมีบทบาทที่แตกต่างกัน เมื่อนำมารวมในกลุ่มใหญ่ จะเกิดการขยายการเรียนรู้ทำให้ใช้เวลาน้อยในการเรียนรู้และไม่น่าเบื่อ การกำหนดบทบาทในแต่ละกลุ่มให้ทำกิจกรรมยังรวมถึงการกำหนดบทบาทของสมาชิกในกลุ่มด้วย เช่น เล่นบทบาทสมมุติ เป็นผู้สังเกตการณ์ หรือเป็นตัวแทนกลุ่มในการนำเสนอผลงานของกลุ่ม
3. การกำหนดโครงสร้างของงานที่ชัดเจน บอกรายละเอียดของกิจกรรมและบทบาทโดยทำเป็นกำหนดงานที่ผู้สอนแจ้งให้แก่ผู้เรียน หรือทำเป็นใบงานมอบให้กับกลุ่ม โดยจัดทำเป็นใบงานหรือใบชี้แจง ซึ่งการออกแบบใบงานหรือใบชี้แจง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มทำงานสำเร็จ โดยมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน หรือสร้างเป็นตารางการวิเคราะห์ให้กลุ่ม
3.1 ใบงาน เป็นข้อความกำหนดงานที่มีรายละเอียด เพื่อให้ผู้เรียนซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานในกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มย่อยระดมสมองทำงานกลุ่มได้สำเร็จ ผลงานที่ได้จากการทำงานตามที่กำหนดในใบงานจะเป็นข้อสรุปที่มีความลึกซึ้งเป็นไปตามประเด็นที่ผู้สอนต้องการ ใบงานใช้มากในกิจกรรมขององค์ประกอบสะท้อน/อภิปราย และการทดลอง/ประยุกต์แนวคิด และมีผลอย่างมากต่อการทีผู้เรียนจะทำงานได้สำเร็จในเวลาที่จำกัด และตรงตามวัตถุประสงค์
3.2 ใบชี้แจง เป็นคำชี้แจงในการทำกิจกรรมกลุ่ม มีรายละเอียดไม่มากนัก จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำเป็นใบงาน ผู้สอนอาจจะเขียนกระดานหรือแผ่นใสให้ผู้เรียนอ่านพร้อมกัน ใช้มากในกิจกรรมขององค์ประกอบประสบการณ์ หรือการประยุกต์แนวคิด ซึ่งใบชี้แจงที่ดี ควรมีลักษณะที่มีข้อความสั้น กะทัดรัด

ได้ใจความ และกำหนดกิจกรรมตรงกับองค์ประกอบ เช่น ให้ผู้เรียนได้นำเสนอประสบการณ์หรือได้ประยุกต์ความคิดรวบยอด

สรุปได้ว่า หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคคลทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ และทักษะได้ดีที่สุด ผ่านการสังเคราะห์แบบ meta analysis ซึ่งได้โครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่ประกอบด้วยวงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ผสมผสานกับกระบวนการกลุ่ม (group process) เพราะผู้เรียนทุกคนมีประสบการณ์ จึงสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และช่วยกันทำในสิ่งที่ยาก หรือไม่เคยทำมาก่อนด้วยความมั่นใจ โดยเฉพาะการฝึกอบรมที่อาจมีข้อจำกัดในด้านเวลา

การกำหนดบทบาทของสมาชิก
การกำหนดบทบาท ในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มให้แก่สมาชิกในแต่ละกิจกรรม เพื่อให้สมาชิกได้แสดงบทบาทของตนเองตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย และสมาชิกสามารถสับเปลี่ยนบทบาทกันได้ เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ในทุกบทบาท ดังนี้
1. กำหนดบทบาทในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มให้แก่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกได้แสดงบทบาทของตนเองตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่
1.1 ผู้ดำเนินรายการ (moderator) เป็นผู้นำในการสื่อสาร เปิดประเด็นในการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ความรู้ของสมาชิก ตลอดจนเป็นผู้สรุปประเด็น ไกล่เกลี่ย เมื่อมีความแตกแยกในความคิด
1.2 ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เป็นผู้สนับสนุนการเรียนแบบร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม นัดหมายเวลาในการทำงานร่วมกันของสมาชิก จัดหาเทคนิค วิธีการ และเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสื่อสารของสมาชิก และยังเป็นผู้มีหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความรู้ของตนเองต่อประเด็นดังกล่าวด้วย
1.3 ผู้บันทึก (note taker) เป็นผู้ดำเนินการบันทึกประเด็นสำคัญที่ได้จากการสนทนา อภิปราย หรือการประชุมของสมาชิก และยังเป็นผู้มีหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความรู้ของตนเองต่อประเด็นดังกล่าวด้วย
1.4 สมาชิก (member) เป็นผู้มีหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความรู้ของตนเองต่อประเด็นดังกล่าว
2. สมาชิกทุกคนปฏิบัติตามกติกาในการร่วมกิจกรรมการแบ่งปันความรู้ด้วยวิธีการเรียนแบบร่วมมือ ได้แก่ สมาชิกทุกคนต้องกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักและช่วยสร้างสำนึกของการมีส่วนร่วม การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง การเห็นความสำคัญของความหลากหลาย และยอมรับว่าทุกคนต่างมีความคิด มีศักยภาพและความสำคัญที่เท่าเทียมกัน
3. ให้สมาชิกมีอิสระในการกำหนดขั้นตอน และระยะเวลาในแต่ละครั้งของการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มของตนเอง สมาชิกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาใดก็ได้ตามที่สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มสะดวก ทั้งนี้จะต้องบรรลุผลสำเร็จตามใบงานที่มอบหมายให้ทำเป็นผลงานของกลุ่ม และส่งผลงานภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
4. ให้สมาชิกมีการแบ่งปันความรู้ด้วยวิธีการเรียนแบบร่วมมือด้วยการใช้เทคโนโลยีในการแบ่งปันความรู้ต่างๆ ได้แก่ การใช้โปรแกรมสนทนา (chat) การร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานสนทนา (webboard) และการส่งข้อมูลผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e - mail) ฯลฯ
5. ให้สมาชิกสรุปผลงานที่ได้รับมอบหมายตามใบงานเป็นผลงานกลุ่ม และจัดส่งสรุปผลงานกลุ่มแก่ผู้ดำเนินรายการหลัก (key moderator) ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e - mail)


เอกสารอ้างอิง

สาธารณสุข, กระทรวง.กรมสุขภาพจิต. 2544. คู่มือฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วม. พิมพ์ครั้งที่ 4
กรุงเทพมหานคร : วงศ์กมล โปรดักชั่น จำกัด.

การทำบรรณานุกรมสนเทศ

การทำบรรณานุกรมสนเทศ คือ การรวบรวมเนื้อหาสาระที่ได้จากการสืบค้นจากแหล่งสารสนเทศต่างๆ
ที่น่าเชื่อถือ และยอมรับได้ในศาสตร์สาขาที่จะทำการวิจัย ทำการสรุป และวิพากษ์ โดยเรียบเรียง หรือบันทึกสิ่งที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม
การทำบรรณานุกรมสนเทศ จะจัดพิมพ์ในรูปแบบไฟล์เอกสาร หรือ ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ จากโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด ซึ่งวิธีการต่อไปนี้ ไม่ใช่ วิธีการใหม่ แต่เป็นการประยุกต์จากวิธีการบันทึกที่นักวิจัยต่างๆ เคยทำกันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งทำการบันทึกด้วยการเขียนด้วยลายมือ หรือพิมพ์ดีด ในบัตรขนาด 5X8 นิ้ว หรือ 4x6 นิ้ว หรือ 3x5 นิ้ว

แต่ในปัจจุบันนี้ ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์จึงทำให้การจัดเก็บข้อมูลสามารถทำได้โดยง่าย และสะดวกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในที่นี้ จึงได้แนะนำวิธีการทำบรรณานุกรมสนเทศ ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสะดวกในการจัดเก็บ และค้นคืน ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้สารสนเทศอย่างคุ้มค่าจากระบบสารสนเทศที่มี และนำ
สารสนเทศนั้นไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และบริหารงาน
1.2 เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการสืบค้นสารสนเทศ เพื่อการทบทวน
วรรณกรรม (Literature Review) โดยอ่านจากบทความ ข่าว เอกสารอื่นๆ ด้วย นอกจากงานวิจัยแล้วซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถหาขอบเขตความสนใจ (Area of Interest ) ในงานวิจัยที่ตนเองสนใจได้ และนักศึกษาจะได้ทราบว่าขอบเขต (area) ที่ตนเองสนใจนี้ มีใครเคยทำวิจัยมาแล้วบ้าง จึงเป็นการสำรวจองค์ความรู้ และเมื่อทบทวนวรรณกรรมแล้ว จะสามารถคิด และจัดกลุ่มองค์ความรู้ได้เป็นชุด (set)
2. วิธีการ
2.1 สืบค้นสารสนเทศจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถูกต้อง และทันสมัยจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ทั้งแบบ

ออนไลน์ และแบบออฟไลน์
2.2 ศึกษาเอกสาร งานวิจัย บทคัดย่อ หรือหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัยที่เราสนใจจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่สืบค้นมาได้
2.2.1 ถ้าศึกษาจากบทความ สาระสำคัญในหนังสือ ให้อ่าน เพื่อจับใจความสำคัญ และสรุปย่อในกระดาษ A4 หรือพิมพ์เป็นไฟล์เอกสาร Word และจัดเก็บอย่างมีระบบ เพื่อสะดวกในการค้นคืนใช้งานในโอกาสต่อไป (ถ้าเป็นไฟล์เอกสารword ควรพิมพ์ชื่อโฟลเดอร์: ชื่อไฟล์ที่จัดเก็บไว้ที่หัว/ท้ายกระดาษด้วย)
2.2.2 ถ้าศึกษาจากบทคัดย่อ หรือบทความวิจัย รายงานการวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ ให้อ่านและทำการสรุป ประกอบด้วย
- ชื่อเรื่อง
- วัตถุประสงค์ของการวิจัย
- ระเบียบวิธีวิจัย
- ผลการวิจัย
- สรุป และอภิปรายผล
- วิพากษ์งานวิจัย: เป็นการวิเคราะห์สิ่งที่ได้จากงานวิจัย โดยการวิเคราะห์จุดต่าง น่าสงสัย และสิ่งที่นักศึกษา ต้องการจะศึกษาต่อ
2.2.3 การสืบค้นสารสนเทศจากหนังสือ เอกสารต่างๆ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ให้ระบุถึงแหล่งที่มา

โดยทำบรรณานุกรม ส่วนการสืบค้นจากฐานข้อมูลออนไลน์ หรือจากเว็บไซต์นั้น ให้ระบุ URL และวันที่สืบค้นด้วย โดยเขียนตามหลักการเขียนบรรณานุกรมตามแต่ละสถาบันกำหนด

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551

งานมอบหมายสัปดาห์ที่1

สวัสดีค่ะ นักศึกษาทุกคน
วันนี้เป็นการเรียนการสอนของสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา ในวิชา 103494 การจัดการฝึกอบรมทางการศึกษา วันแรกเราก็มาทำความตกลงในการเรียนกัน ว่าวิชานี้มีเนื้อหาวิชาอย่างไร มีกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร มีงานอะไรที่ต้องทำส่ง แบ่งเป็นงานกลุ่ม (ย่อย/ใหญ่) งานรายบุคคล การแบ่งน้ำหนักคะแนน สำหรับระหว่างภาค ปลายภาค สำหรับเนื้อหาการเรียนในวันแรก ก็ยังเป็นเนื้อหาที่ไม่ยากนัก เป็นการปูพื้นความรู้ก่อน นักศึกษาที่ไม่ได้มาเรียน 4 คนก็ขอให้ติดตามรับชีสจากหัวหน้าห้อง (bob) เก็บไว้ให้ และติดตามว่าต้องส่งงานอะไรบ้าง ส่วนการแบ่งกลุ่มย่อย ก็แบ่งเรียบร้อยแล้ว มีรายนาม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 จิราพร สุดารัตน์ ถาวร ภานุวัฒน์ พิชิตชัย ปฐวี
กลุ่มที่ 2 พรทิพย์ พนิดา จตุรงค์ เจษฎา สมคิด พัลลพ
กลุ่มที่ 3 ตวงรัตน์ นันทิดา สายสุดา สุปราณี ทวี
อาจารย์ขอทบทวนล่ะกันนะ กันลืม.... งานรายบุคคล ที่นศ. มีกำหนดส่ง พุธที่ 11 มิถุนายน 2551 (1ชิ้นงาน) คือ สรุปการเรียนในวันนี้ หัวข้อ ความหมาย ความสำคัญ และประโยชน์ของการฝึกอบรม พร้อมเขียนอ้างอิง/บรรณานุกรม ที่ถูกต้องตามหลัก ที่อาจารย์มอบคู่มือฯ ไปให้ bob นำไปให้เพื่อนๆ ถ่ายเอกสารไว้ ศึกษา
ให้นักศึกษา นำมาส่งที่โต๊ะอาจารย์ ชั้น 2 ห้องคณบดี โต๊ะแรก เปิดไปก็เจอเลย...ส่งก่อนกำหนดได้ แต่ไม่รับงานที่ส่งช้า....นะคะ อาจารย์จะได้มีเวลาตรวจให้ ล่วงหน้า....ส่งข่าวเพื่อนที่ไม่มาเรียนด้วยนะคะ

วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การสืบค้นสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต

นักศึกษาคะ ในการมอบหมายงานที่ให้นักศึกษาสืบค้นบทความ งานวิจัยทางอินเทอร์เน็ต มาสรุปประเด็นส่งนั้น อาจารย์จึงนำส่วนหนึ่งของเอกสารคำสอนของนศ.ป โท วิชาวิจัยฯ มาให้นักศึกษาได้ศึกษาในหลักการ เผื่อว่าจะได้ประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการสืบค้นให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่มีคุณภาพ ดังนี้

การค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การค้นคว้าเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาด้วยตนเองแบบ
ใช้มือ (Manual Search) หรือใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสืบค้น (Computer Search) จะต้องเลือกคำสำคัญ และข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ได้รายการที่สมบูรณ์ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ
การค้นคว้าเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่ผู้วิจัยตั้งใจจะหาคำตอบด้วยการวิจัย อาจทำได้หลากหลายวิธี เช่น การอ่านวิทยานิพนธ์ ของผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว หรือรายงานการวิจัยในห้องสมุดของสถาบันการศึกษา หน่วยงานต่างๆ หรือหอสมุดของสภาวิจัยแห่งชาติ
การสืบค้นจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันจะสามารถ
กระทำได้สะดวกสบายจากฐานข้อมูล หรือจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
ในที่นี้จะเสนอถึงเทคนิคการสืบค้นเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ดังนี้

1. เลือกสืบค้นจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผ่านทางเว็บไซต์ของห้องสมุดของสถาบันการศึกษา เช่น
1.1 DAO (เป็นฐานข้อมูล ProQuest Dissertation and Thesis คือ ฐานข้อมูลที่รวบรวมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท และปริญญาเอกของสถาบัน การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมถึงบางสถาบันการศึกษาจากทวีปยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย และแอฟริกามากกว่า 1,000 แห่ง ประกอบไปด้วยวิทยานิพนธ์มากกว่า 2 ล้าน ชื่อเรื่อง)
1.2 ERIC (Education Resources Information center) เป็นฐานข้อมูลทางการศึกษา ฐานข้อมูลเหล่านี้ได้จำแนกเป็นแต่ละสาขา เช่น ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งฐานข้อมูลแบบนี้ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้โดยเสรี เพราะว่าเป็นฐานข้อมูลที่สถาบันการศึกษามีการเช่าซื้อมา เป็นเครือข่ายผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดของแต่ละมหาวิทยาลัย สำหรับอาจารย์/นักศึกษาใช้สืบค้นเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและการศึกษาวิจัย โดยจะต้อง login ผ่าน server มหาวิทยาลัย หรือถ้ามีusername/password ที่ทางมหาวิทยาลัยให้มา ก็สามารถสืบค้นจากสถานที่อื่นๆ ได้ โดยการคีย์ username/password ลงไปตามช่องที่กำหนดไว้บนเว็บเพจของฐานข้อมูลดังกล่าว
บทความที่ได้จากการสืบค้นจากฐานข้อมูลดังกล่าว จะอยู่ในรูปของ Acrobat file สามารถ save ได้ทันที หรือจะพิมพ์ออกมาเลยก็ได้ อีกวิธีหนึ่ง คือ save บทความเหล่านี้ไว้บน folder ที่สร้างขึ้นบท desktop เมื่อได้จำนวนมากพอให้ทำการบีบอัดไฟล์ด้วยโปรแกรม zip หรือ WinRAR แล้วจึงจัดเก็บต่อไป
การเขียนอ้างอิงฐานข้อมูลอ้างอิงอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Reference) ให้ดูจาก
คู่มือการเขียนบรรณานุกรมของบัณฑิตวิทยาลัย หรือสถาบันที่แหล่งเงินทุนการวิจัยกำหนด
2. เลือกสืบค้นจากแหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ เว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ องค์การ หรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ (เลือกเว็บไซต์ที่URL ลงท้ายด้วย ac.th, org, gov.) เช่น
2.1 การสืบค้นจากเว็บไซต์ เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลของ ERIC หรือ Educational Resources Information Center เป็นฐานข้อมูลทางการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถสืบค้นได้ง่ายๆ ที่ Website http://www.eric.ed.gov โดยพิมพ์คำที่ต้องการสืบค้นในช่อง search terms และเลือกกำหนดว่าเป็นคำหลัก (keyword) หรือชื่อเรื่อง (title) หรือผู้เขียน (author) และทำการสืบค้น ซึ่งจะเชื่อมโยง (link) ไปยังหน้าเว็บที่ปรากฏชื่องานวิจัยที่มีคำหลักที่ต้องการสืบค้น และสามารถคลิกเพื่อให้แสดงผลบทคัดย่อฉบับเต็ม (show full abstract)
2.2 การสืบค้นจากเว็บไซต์ของสมาคมวิชาชีพเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
( Association for Educational Communication Technology: AECT)
เว็บไซต์ของ AECT คือ
www.aect.org/ บน homepage จะพบกับเอกสารการ
สัมมนาประจำปีของสมาคมในส่วนที่นักวิจัยสามารถสืบค้นต่อเพื่องานวิจัย คือ ส่วนของ Publications
มีรายชื่อหนังสือและวารสารหลายเล่ม เช่น Educational Media and Technology YEARBOOK, The Handbook of Research for Educational Communications and Technology, Educational Technology Research and Development, Tech Trends, A Code of Professional Ethics, Getting Started in Instructional Technology Research
ในกรณีที่เป็นสมาชิกของ AECT เท่านั้น หนังสือบางเล่มดังกล่าวจะสามารถ
ดาวน์โหลด ได้เต็มฉบับ เช่น เมื่อเลือก Handbook of Research for Educational Communications and Technology และคลิกที่ click here for access to the first edition จะเชื่อมโยงไปที่เว็บไซต์ http://www.aect.org/edtech/ed1/firstedition.asp ซึ่งสมาชิกจะดาวน์โหลด Handbook of Research for Educational Communications and Technology Edited by David H. Jonassen ได้เต็มฉบับในรูปแบบไฟล์ pdf.
สำหรับผู้สืบค้นทั่วไปที่ไม่เป็นสมาชิกของ AECT ในส่วน Publications ให้สังเกตที่มุมซ้าย เมื่อคลิกที่ occasional papers จะมีชื่อบทความให้เลือกอ่าน โดยจะแสดงผลเชื่อมโยงในหน้าเว็บต่อไป
อย่างไรก็ตาม การค้นหาบทความจากวารสาร อาจจะพบอุปสรรคบางประการ ผู้วิจัยควรเรียนรู้วิธีแก้ปัญหา ในกรณีที่ไม่สามารถค้นหาบทความที่ต้องการ วิธีดังกล่าว คือ
1. สอบถามจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่า สำนักหอสมุดแห่งใดมีวารสารฉบับที่เราต้องการ เพราะ
หอสมุดหลายๆ แห่งมีข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนการยืมระหว่างห้องสมุดได้
2. สั่งซื้อสำเนาบทความผ่านการบริการยืมระหว่างห้องสมุด ( inter-library-loan)
3. ในกรณีของวารสารต่างประเทศ สามารถแสดงความจำนงผ่านสมาคมวิชาชีพโดยตรง
เช่น AECT: Association for Education and Communication Technology, AERA: American Educational Research Association และ APA: American Psychological Association โดยวิธีสืบค้นผ่าน Search Engine ของอินเทอร์เน็ตทุกประเภท
4. สั่งซื้อบทความภาษาอังกฤษผ่านบริษัทนายหน้า เช่น Carl UnCover หรือ ISI Document Solution
5. ติดต่อสำนักพิมพ์ หรือตัวแทนจำหน่ายวารสารเพื่อขอซื้อวารสารเก่า (back issue) ฉบับ
นั้น ๆ
6. กรณีค้นหาบทความใน ERIC ให้ค้นด้วยคำ Psychological Abstracts และ CTIE เพื่อค้นหาบทความที่นำเสนอไปแล้วสามปีว่าได้รับการตีพิมพ์ในวารสารหรือไม่
7. สอบถามบรรณารักษ์ว่า บทความดังกล่าว สามารถสั่งซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ในปัจจุบันหอสมุดหลายแห่งในประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงกับหอสมุดมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้โดยตรง
8. ค้นคว้าโดยเทคนิคการสืบค้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (ดูจากวิธีค้นข้อมูล www.)

นอกจากนี้ มี เทคนิคในการสืบค้นบางประการที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยเพื่อใช้สืบค้นให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่มีคุณภาพ ประหยัดเวลา และทรัพยากร ดังนี้
1. การสืบค้นจะมีฐานกว้างขวางยิ่งขึ้น ถ้านักวิจัยอาศัยบรรณานุกรมของบทความสืบค้นต่อไปได้อีกมากมาย
2. สารสนเทศออนไลน์หรือบทความจากวารสารที่นำมาใช้อ้างอิงนั้นควรมีความทันสมัย ไม่ควรเก่าจนเกินไป ไม่ควรเกิน 5 ปี ส่วนสารสนเทศจากหนังสือ ตำราก็ไม่ควรเกิน10 ปี (มีข้อยกเว้นใน text book ที่เป็นแหล่งปฐมภูมิ ฉบับดั้งเดิมของต่างประเทศ เช่น ทฤษฎีการบริหารร่วมสมัย หลักการ ทฤษฎีมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรนำฉบับที่พิมพ์ครั้งล่าสุดมาอ้างอิง เพราะผู้เขียนหรือบรรณาธิการได้มีการปรับปรุงเนื้อหาสาระให้ทันสมัยแล้ว
3. สารสนเทศที่นำมาอ้างอิงต้องพิจารณาจากผู้เขียนบทความ หรือหน่วยงาน/องค์การ/สถาบัน ที่น่าเชื่อถือได้ หรือเป็นที่ยอมรับในศาสตร์นั้น
4. คุณภาพของสารสนเทศ พิจารณาจากความถูกต้อง ตรงประเด็น มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่ต้องการศึกษา และมีความทันสมัย
5. เมื่อทำการสืบค้นสารสนเทศมาได้ ควรจะ copy รายละเอียดที่ได้ ลงใน Word document แล้วอย่าลืม copy URL และระบุวันที่สืบค้นได้ไว้ด้วย เพื่อเก็บไว้อ้างอิงในโอกาสต่อไป หรือไม่ก็สั่ง print out เลย แต่วิธีนี้จะสิ้นเปลืองจำนวนหน้ากระดาษมากเพราะว่าเว็บเพจมีกราฟิกประกอบมาก และเต็มไปด้วยตารางที่เป็นส่วนประกอบของเว็บเพจ และบางครั้งการแสดงผลที่หน้าจอกับการ print out ไม่เหมือนกัน อาจต้องตั้งหน้ากระดาษเป็นแนวขวาง เพื่อให้ได้สาระครบถ้วนไม่ตกหล่น โดยมีเนื้อหาที่ตกขอบกระดาษ

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เปิดเทอมแล้ว...เตรียมตัวพร้อมหรือยังคะ

สวัสดีนักศึกษาทุกคน
เปิดเทอมแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ปิดเทอมที่ผ่านมาใช้เวลาทำอะไรกันบ้างคะ กลับมากันแล้ว ครบหรือยังนะ มีใครยังติดลมอยู่ เรียกๆ กลับมาได้แล้วนะคะ นักศึกษาคงมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง ว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ และเป็นประสบการณ์ที่ดีกับชีวิตการเป็นนักศึกษาของเราบ้างไหม
การใช้ชีวิตการเป็นนักศึกษาปริญญาตรี เป็นช่วงเวลาที่น่าสนุกมาก และควรจะเก็บเกี่ยวโอกาสดีๆ จากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ การเข้าชมรมสาธารณกุศลต่างๆ หรือการเล่นกีฬา ร่วมกิจกรรมทางศาสนา ก็ล้วนแต่สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้นักศึกษา อาจารย์หวังว่านักศึกษาทุกคนจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ให้มากที่สุด เพราะเวลาทุกคนมีเท่ากัน เมื่อเราผ่านช่วงเวลานี้ไป เราจะย้อนเวลานั้นกลับมาอีกไม่ได้ การเรียนก็เช่นเดียวกัน อยากให้นักศึกษาให้ความสนใจ ใส่ใจ ตั้งใจให้มาก การมีโอกาสได้เรียนในระดับปริญญาบัณฑิต ในมหาวิทยาลัยปิดเช่นนี้ ดีกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดมากมาย หลายอย่าง เห็นชัดๆ ก็คือ นักศึกษาเพียงเข้าชั้นเรียนทุกครั้ง ตั้งใจเรียน ร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน ทำงานตามมอบหมาย นักศึกษาก็จะได้รับความรู้ไปแบบวิธีลัด อาจารย์แต่ละท่านก่อนจะมาสอนนักศึกษานั้น อาจารย์จะต้องเตรียมการสอนเป็นอย่างดี คล้ายกับเชฟมาปรุงอาหารชั้นดี...เสริฟถึงที่ นักศึกษาจะไม่อยากรับประทานหรือ? จริงไหม ไม่ต้องไปหาเอง ทำเอง ไม่รู้จะอร่อยหรือเปล่า นักศึกษาเพียงเข้าชั้นเรียน และแบ่งเวลาทบทวนบทเรียน ทำงานตามมอบหมาย ยังมีเวลาเหลือพักผ่อน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อีกมาก ดังนั้น อาจารย์จึงต้องการให้นักศึกษาเข้าชั้นเรียนทุกครั้ง เพราะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเอง ที่จะได้รับความรู้ จากอาจารย์ผู้สอนแบบเต็มที่ มีอะไรสงสัยจะได้ซักถามได้ให้หายข้องใจ อีกอย่างนะคะ การร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนจะทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง การทำงานร่วมกับเพื่อนนักศึกษา ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปใช้เมื่อเรียนจบแล้ว จะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อาจารย์ปรารถนาให้นักศึกษาทุกคนเรียนแบบร่วมมือ (ไม่ใช่ลอกการบ้านนะคะ)
ช่วยเหลือกัน คนที่เก่งก็ช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อน อย่าเป็นคนเก่งคนเดียว โดยไม่แบ่งปันความรู้แก่เพื่อน การติวให้เพื่อน ก็ยิ่งช่วยให้ติวเตอร์เก่งมากขึ้น เพราะต้องเตรียมเนื้อหามาติวเพื่อน ไม่มีเสียมีแต่ได้
ถ้านักศึกษาสงสัยในการเรียน ที่อาจพลาดโอกาสในการซักถามในชั้นเรียน หรือพอกลับไปอ่านทบทวนแล้วสงสัย ก็ให้โพสต์ถามได้ ในเว็บบล๊อกนี้ แล้วอาจารย์จะได้ตอบปัญหาให้ และเพื่อนๆ ก็จะได้มาอ่านและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เป็นเครือข่ายของการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน และอาจารย์ก็จะแจ้งนัดหมายต่างๆ หรือมอบหมายงานผ่านเว็บบล๊อกนี้ด้วย เพื่อเปิดช่องทางการสื่อสารของเราให้กว้างขวางขึ้น...และครอบคลุม
ขอให้นักศึกษาทุกคนโชคดีในการเรียน ....มีความสุขในชีวิต... ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า

วันอังคารที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2551

การจัดการฝึกอบรมทางการศึกษา

ประมวลรายวิชา
(Course Syllabus)

1. รหัสวิชา 103494 2. จำนวนหน่วยกิต 3(2 - 2)
3. ชื่อวิชา การจัดการฝึกอบรมทางการศึกษา (Management of Training in Education)
4. คณะ/โปรแกรมวิชา ครุศาสตร์/เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา
5. ภาคการศึกษา ต้น
6. ปีการศึกษา 2551 7. ชื่อผู้สอน ดร. สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ
โทรศัพท์ 044 - 242850 ต่อ 1105
e- mail: dr.supanida@gmail.com
weblog: www.opalnida.blogspot.com
8. สถานภาพของวิชา วิชาเฉพาะ
9. ชื่อหลักสูตร หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การศึกษา
(Bachelor of Education Program in Educational
Technology and Innovation)
10. วิชาระดับ ปริญญาตรี
11. จำนวนชั่วโมงที่สอน/สัปดาห์ 3 ชั่วโมง
12. คำอธิบายรายวิชา (Course Description)
รูปแบบการฝึกอบรม การสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการในการฝึกอบรม
การดำเนินการด้านบุคลากร งบประมาณ อาคารสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการฝึกอบรม การวางแผน การเขียนโครงการ การประเมินผล และการรายงานผลการฝึกอบรมทางการศึกษา
ฝึกปฏิบัติการจัดการฝึกอบรมทางการศึกษา การประเมิน และการรายงานผล


13. ประมวลการเรียนรายวิชา (Course Outline)
13.1 วัตถุประสงค์ทั่วไป และวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
วัตถุประสงค์ทั่วไป
เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ ความสามารถเกี่ยวกับหลักการ ทฤษฎี แนวทาง วิธีปฏิบัติ
ต่างๆ เกี่ยวกับการจัดการฝึกอบรม เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อวิชาชีพต่อไป
วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เพื่อให้นักศึกษาสามารถ
1) อธิบายความหมาย ความสำคัญ และประโยชน์ของการฝึกอบรมได้
2) ยกตัวอย่าง และอธิบายหลักการ และทฤษฎีทางจิตวิทยาที่นำมาใช้ในการจัดการ
ฝึกอบรม
3) จำแนกประเภทของการฝึกอบรมได้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการฝึกอบรม
4) อธิบายเทคนิคการฝึกอบรมได้
5) บอกขั้นตอนหลักของรูปแบบการฝึกอบรมได้
6) อธิบายการวิเคราะห์ความต้องการ และการพิจารณาความจำเป็นในการฝึกอบรมได้
7) กำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรมได้
8) อธิบายกระบวนการจัดทำหลักสูตร และโครงการฝึกอบรมได้
9) เขียนโครงการจัดการฝึกอบรมได้
10) อธิบายวิธีบริหารโครงการฝึกอบรมได้
11) บอกวิธีการประเมินผลโครงการฝึกอบรมได้
12) ปฏิบัติการจัดการฝึกอบรม และประเมินผลได้

13.2 เนื้อหารายวิชาต่อสัปดาห์ (Learning Contents)
1) ความหมาย ความสำคัญ ประโยชน์ของการฝึกอบรม
2) หลักการ และทฤษฎีทางจิตวิทยาสำหรับการฝึกอบรม
3) ประเภท และเทคนิคการฝึกอบรม
4) การจัดการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ
4.1) แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ
4.2) รูปแบบการฝึกอบรม
5) การวิเคราะห์ความต้องการ และการพิจารณาความจำเป็นในการฝึกอบรม
5.1) การวิเคราะห์ความต้องการในการฝึกอบรม (Training Need Identification)
5.2) การพิจารณาความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Need Assessment)
6) การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม
7) การจัดทำหลักสูตรและโครงการฝึกอบรม
8) การบริหารโครงการฝึกอบรม
9) การประเมินผลโครงการฝึกอบรม
10) ฝึกปฏิบัติการจัดการฝึกอบรม และประเมินผล

13.3 วิธีจัดการเรียนการสอน
1) บรรยาย
2) การบรรยายเชิงอภิปราย
3) ระดมสมอง และการอภิปราย
4) การสรุปประเด็นสำคัญ และการนำเสนอผลของการสืบค้น หรือผลของงานที่ได้รับ
มอบหมายหน้าชั้นเรียน
5) ฝึกปฏิบัติ

13.4 สื่อการสอน
1) แผ่นใส และแผ่นทึบ
2) สื่อนำเสนอในรูปแบบ PowerPoint
3) เอกสารประกอบการบรรยาย

13.5 ข้อกำหนดวิธีการมอบหมายงาน และส่งงาน ดังนี้
1) ผลงานรายบุคคล: การศึกษาค้นคว้า แนวคิด หลักการ ทฤษฎี สรุปประเด็น
สำคัญ และการนำเสนอผลของการสืบค้น หรือผลของงานที่ได้รับมอบหมาย (5 ชิ้นงาน)
1.1) นักศึกษาจะได้รับมอบหมายให้ศึกษา ค้นคว้าแนวคิด หลักการ ทฤษฎี
การจัดการฝึกอบรม จากบทความ หนังสือ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ หรือจากแหล่งข้อมูลอื่นๆ ตามหัวข้อที่ได้รับมอบหมาย ทำความเข้าใจ และเขียนสรุปประเด็นสำคัญ
1.2) นักศึกษาต้องส่งงาน ตามกำหนดเวลาเท่านั้น ไม่รับงานที่ส่งหลังกำหนด เวลาไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น
1.3) งานทุกชิ้นที่มีการศึกษาค้นคว้า นักศึกษาต้องเขียนรายการอ้างอิงกำกับ
ด้วย โดยเขียนตามหลักการพิมพ์ของบัณฑิตวิทยาลัย (ศึกษาจากคู่มือการทำวิทยานิพนธ์และ
ภาคนิพนธ์)
1.4) พิมพ์เนื้อหาสาระของผลงานลงกระดาษ A 4 ขนาดตัวอักษรไม่เกิน 16
point หรือเขียนด้วยลายมือที่อ่านง่าย ความยาวตามกำหนดของแต่ละชิ้นงาน และไม่ต้องเข้าเล่ม
1.5) นำเสนอผลของการสืบค้น หรือผลของงานที่ได้รับมอบหมายหน้าชั้นเรียน
1.6) รับผลงานคืน ในการจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไป

2) ผลงานกลุ่ม
2.1) โครงการฝึกอบรมทางการศึกษา กลุ่มละ 1 โครงการ (กลุ่มย่อย)
2.2) ปฏิบัติการจัดฝึกอบรม และประเมินผล จำนวน 1 ครั้ง ใช้ระยะเวลา 3 ชั่วโมง (กลุ่มใหญ่)
วิธีการ
2.2.1) ให้นักศึกษาแบ่งกลุ่ม จำนวน 3 กลุ่มๆ ละ 5 – 6 คน สมาชิกในกลุ่ม
ร่วมจัดทำโครงการฝึกอบรมทางการศึกษา กลุ่มละ 1 โครงการ และนำเสนอโครงการ (กลุ่มย่อย)
2.2.2) พิจารณาความเหมาะสม และความเป็นไปได้ในดำเนินการจัดฝึกอบรม และคัดเลือกโครงการที่
นำเสนอมา 1 โครงการ เพื่อปฏิบัติการจัดฝึกอบรมและประเมินผล (กลุ่มใหญ่)
2.2.3) สมาชิกในกลุ่มร่วมปฏิบัติการวางแผนการบริหารโครงการ (กลุ่มใหญ่)
2.2.4) สมาชิกในกลุ่มปฏิบัติการวางแผนประเมินผลโครงการ
2.2.5) สมาชิกในกลุ่มปฏิบัติการจัดฝึกอบรมและประเมินผล ตามโครงการฝึกอบรมที่กลุ่มได้คัดเลือก (กลุ่มใหญ่)
- จัดฝึกอบรมและประเมินผล 1 ครั้ง ใช้ระยะเวลา 3 ชั่วโมง ในเวลาราชการ
- เชิญวิทยากรมาบรรยาย (จากภายใน หรือภายนอก)
- กลุ่มเป้าหมาย คือ นักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต คณะครุศาสตร์
โปรแกรมวิชาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา และนักศึกษาคณะครุศาสตร์ โปรแกรมวิชาอื่นๆ หรือต่างคณะ
2.2.6) สมาชิกในกลุ่มทำการสรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรค
และข้อเสนอแนะในการดำเนินการตามโครงการฝึกอบรมที่จัดทำขึ้น และนำเสนอในสัปดาห์สุดท้ายของการเรียนการสอน (กลุ่มใหญ่)

13.6 การวัดผลการเรียน
1) คะแนนระหว่างภาค 70%
- การมีส่วนร่วมในชั้นเรียน 10%
- งานมอบหมาย (รายบุคคล) 20% (จำนวน 5 ครั้ง)
- การเขียนโครงการ (รายกลุ่ม: กลุ่มย่อย) 20%
- ปฏิบัติการจัดการฝึกอบรม และประเมินผล (รายกลุ่ม: กลุ่มใหญ่) 20%
2) คะแนนปลายภาค 30%

14. แผนการสอน

สัปดาห์ที่ /หัวข้อ/ กิจกรรม
1 ความหมาย ความสำคัญ ประโยชน์ ของการฝึกอบรม/บรรยาย
2 หลักการ และทฤษฎีทางจิตวิทยาสำหรับการฝึกอบรม/บรรยาย แบ่งกลุ่ม ระดมสมอง และอภิปราย และนำเสนอหลักการ และทฤษฎีทางจิตวิทยา
3 ประเภท และเทคนิคการฝึกอบรม/บรรยาย - อภิปราย
4 การจัดการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบ/บรรยาย
5-6 การวิเคราะห์ความต้องการ และการพิจารณาความจำเป็นในการฝึกอบรม/บรรยาย
7 การกำหนดวัตถุประสงค์ในการฝึกอบรม/บรรยาย
8-9 การจัดทำหลักสูตรและโครงการฝึกอบรม/บรรยาย เขียนโครงการ และนำเสนอโครงการ (รายกลุ่ม: กลุ่มย่อย)
10 การบริหารโครงการฝึกอบรม/บรรยาย ปฏิบัติการวางแผนการบริหารโครงการ (รายกลุ่ม: กลุ่มใหญ่)
11-12 การประเมินผลโครงการฝึกอบรม/บรรยาย ปฏิบัติการวางแผนประเมินผลโครงการ (รายกลุ่ม: กลุ่มใหญ่)
13-14 ปฏิบัติการจัดการฝึกอบรมและประเมินผลจัดการฝึกอบรม (กลุ่มใหญ่ จำนวน 1 ครั้ง ใช้ระยะเวลา 3 ชั่วโมง , ในเวลาราชการ)
15 สรุปผลการดำเนินงาน ปัญหา อุปสรรคและข้อเสนอแนะ/รายงานผล (รายกลุ่ม: กลุ่มใหญ่) อภิปราย ซักถาม


15. รายชื่อเอกสารอ่านประกอบ
ชูชัย สมิทธิไกร. (2548). การฝึกอบรมบุคลากรในองค์การ. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ:
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ชาญ สวัสดิ์สาลี. (2546). คู่มือการประเมินและติดตามผลการฝึกอบรมสำหรับ
ผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรม/สัมมนา. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ: สวัสดิการ
สำนักงานก.พ.
นิรันดร์ จุลทรัพย์. (2547). จิตวิทยาการประชุม อบรม สัมมนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. สงขลา:
ภารกิจเอกสารและตำรา กลุ่มงานบริการการศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ.
วิจิตร อาวะกุล. (2540). การฝึกอบรม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย.
วิเชียร ชิวพิมาย และสอิ้ง อภิปาลกุล. (2532). การฝึกอบรมและคู่มือวิทยากร. กรุงเทพฯ:
สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ.
สมชาติ กิจยรรยง และอรจรีย์ ณ ตะกั่วทุ่ง. (2550). เทคนิคการจัดฝึกอบรมเพื่อพัฒนา
บุคลากรอย่างมีประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ: สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น).
สมคิด บางโม. (2544). เทคนิคการฝึกอบรมและการประชุม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ:
วิทยพัฒน์.