วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การทำบรรณานุกรมสนเทศ

การทำบรรณานุกรมสนเทศ คือ การรวบรวมเนื้อหาสาระที่ได้จากการสืบค้นจากแหล่งสารสนเทศต่างๆ
ที่น่าเชื่อถือ และยอมรับได้ในศาสตร์สาขาที่จะทำการวิจัย ทำการสรุป และวิพากษ์ โดยเรียบเรียง หรือบันทึกสิ่งที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม
การทำบรรณานุกรมสนเทศ จะจัดพิมพ์ในรูปแบบไฟล์เอกสาร หรือ ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ จากโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด ซึ่งวิธีการต่อไปนี้ ไม่ใช่ วิธีการใหม่ แต่เป็นการประยุกต์จากวิธีการบันทึกที่นักวิจัยต่างๆ เคยทำกันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งทำการบันทึกด้วยการเขียนด้วยลายมือ หรือพิมพ์ดีด ในบัตรขนาด 5X8 นิ้ว หรือ 4x6 นิ้ว หรือ 3x5 นิ้ว

แต่ในปัจจุบันนี้ ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์จึงทำให้การจัดเก็บข้อมูลสามารถทำได้โดยง่าย และสะดวกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในที่นี้ จึงได้แนะนำวิธีการทำบรรณานุกรมสนเทศ ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสะดวกในการจัดเก็บ และค้นคืน ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้สารสนเทศอย่างคุ้มค่าจากระบบสารสนเทศที่มี และนำ
สารสนเทศนั้นไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และบริหารงาน
1.2 เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการสืบค้นสารสนเทศ เพื่อการทบทวน
วรรณกรรม (Literature Review) โดยอ่านจากบทความ ข่าว เอกสารอื่นๆ ด้วย นอกจากงานวิจัยแล้วซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถหาขอบเขตความสนใจ (Area of Interest ) ในงานวิจัยที่ตนเองสนใจได้ และนักศึกษาจะได้ทราบว่าขอบเขต (area) ที่ตนเองสนใจนี้ มีใครเคยทำวิจัยมาแล้วบ้าง จึงเป็นการสำรวจองค์ความรู้ และเมื่อทบทวนวรรณกรรมแล้ว จะสามารถคิด และจัดกลุ่มองค์ความรู้ได้เป็นชุด (set)
2. วิธีการ
2.1 สืบค้นสารสนเทศจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถูกต้อง และทันสมัยจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ทั้งแบบ

ออนไลน์ และแบบออฟไลน์
2.2 ศึกษาเอกสาร งานวิจัย บทคัดย่อ หรือหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัยที่เราสนใจจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่สืบค้นมาได้
2.2.1 ถ้าศึกษาจากบทความ สาระสำคัญในหนังสือ ให้อ่าน เพื่อจับใจความสำคัญ และสรุปย่อในกระดาษ A4 หรือพิมพ์เป็นไฟล์เอกสาร Word และจัดเก็บอย่างมีระบบ เพื่อสะดวกในการค้นคืนใช้งานในโอกาสต่อไป (ถ้าเป็นไฟล์เอกสารword ควรพิมพ์ชื่อโฟลเดอร์: ชื่อไฟล์ที่จัดเก็บไว้ที่หัว/ท้ายกระดาษด้วย)
2.2.2 ถ้าศึกษาจากบทคัดย่อ หรือบทความวิจัย รายงานการวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ ให้อ่านและทำการสรุป ประกอบด้วย
- ชื่อเรื่อง
- วัตถุประสงค์ของการวิจัย
- ระเบียบวิธีวิจัย
- ผลการวิจัย
- สรุป และอภิปรายผล
- วิพากษ์งานวิจัย: เป็นการวิเคราะห์สิ่งที่ได้จากงานวิจัย โดยการวิเคราะห์จุดต่าง น่าสงสัย และสิ่งที่นักศึกษา ต้องการจะศึกษาต่อ
2.2.3 การสืบค้นสารสนเทศจากหนังสือ เอกสารต่างๆ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ให้ระบุถึงแหล่งที่มา

โดยทำบรรณานุกรม ส่วนการสืบค้นจากฐานข้อมูลออนไลน์ หรือจากเว็บไซต์นั้น ให้ระบุ URL และวันที่สืบค้นด้วย โดยเขียนตามหลักการเขียนบรรณานุกรมตามแต่ละสถาบันกำหนด