วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Welcome to our classroom "Family Education& Safety of Life"

สวัสดีค่ะ ...นักศึกษาทุกคนที่ลงเรียนวิชา 2000-1602 ครอบครัวศึกษาและความปลอดภัยในชีวิตทุกคน

ด้วยเหตุที่อาจารย์จะไม่ได้ประจำอยู่ที่อศน. ทุกวัน จะเข้ามาสอนในวันศุกร์เท่านั้น จึงอาจจะไม่สะดวกในการติดต่อกัน และเพื่อให้มีการแจ้งข่าวสารให้นักศึกษาได้ทราบความเคลื่อนไหวในกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง จึงเปิดช่องทางติดต่อกันผ่านblog นี้

ในสัปดาห์นี้ เป็นการเรียนการสอนในสัปดาห์ที่ 4 แล้วนะคะ กิจกรรมก็ดำเนินไปหลายอย่าง ผู้ที่เข้าเรียนครบก็จะได้มีประสบการณ์การเรียนรู้หลายแบบ ได้แก่ การบรรยายของอาจารย์ การนำเสนอผลงานของเพื่อนๆ เป็นรายกลุ่ม การศึกษาด้วยตนเอง และทำแบบฝึกหัดเพื่อทบทวนบทเรียน แต่สำหรับนศ. คนไหนที่ไม่มาเรียน ก็ให้ติดตามงานด้วย และพิจารณาความเหมาะสมด้วย หากนศ.ขาดเรียน 4 ครั้งนศ. ต้องลงเรียนใหม่ เงื่อนไขนี้ทุกคนคงทราบดี

ส่วนการทำงานกลุ่ม ขอให้นศ ให้ความร่วมมือกับเพื่อนสมาชิก และวางแผนทำงานแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่หนักเอาใกล้ๆวันกำหนดส่งงาน ให้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเพื่อนกลุ่มแรก ที่เป็นแนวหน้า มีเวลาทำน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เขาจึงต้องลองผิดลองถูก อาจารย์จึงให้เขาไปปรับแก้ไข และให้จัดส่งให้ภายหลัง อยากให้นศ ได้เรียนรู้เวลาที่เราพบข้อบกพร่องของคนอื่นๆ จะได้นำไปปรับใช้ในการทำผลงานกลุ่มตนเอง แต่อาจด้วยประสบการณ์ของนศ.ยังน้อยจึงพบว่า...การทำรายงานของนศ.ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนัก แต่ไม่ต้องซีเรียส นะคะ ให้ฝึกทำ ต่อไปเราจะได้ทำได้ดีขึ้น (ไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิด เราฝึกฝนได้ ขอให้พยายามล่ะกัน)

อาจารย์ได้ให้เอกสารไปศึกษา และได้อธิบายหลักการเขียนรายงานเชิงวิชาการให้แล้ว รวมถึงการอ้างอิงที่ถูกต้องด้วย ขอให้นำไปใช้ในการทำผลงานกลุ่มของพวกเราด้วยนะคะ ขอให้ตั้งใจในการทำงานกลุ่มด้วยนะคะ เพราะคะแนนที่ให้ในส่วนนี้มากถึง 20 คะแนน ซึ่งอาจารย์ได้ชี้แจงเกณฑ์การให้คะแนนแล้ว แต่เพื่อทบทวนให้ทราบ เพื่อพวกเราจะได้พิจารณาว่าจะทำอย่างไร ให้ได้ผลงานที่ดีสุดตามเกณฑ์ ดังนี้ค่ะ


เกณฑ์การให้คะแนนผลงานกลุ่ม (20 คะแนน)
วิธีการ


1. ให้นักศึกษาจัดแบ่งกลุ่มตามความสมัครใจ กลุ่มละ 5-7 คน ได้แก่

2. อาจารย์มอบหมายหัวข้อเนื้อหาให้นักศึกษาในแต่ละกลุ่มได้ไปศึกษาค้นคว้า รวบรวมสารสนเทศจากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้อันหลากหลาย และเชื่อถือได้ พร้อมอ้างอิงตามหลักวิชาการ และร่วมมือกันจัดทำเป็นชิ้นงาน ประกอบด้วย สื่อประกอบการนำเสนอ (ภาพพลิกทำด้วย Future Board และมีภาพประกอบ) รูปเล่มรายงาน และการนำเสนอผลงานกลุ่มในชั้นเรียนตามกำหนด


รายการประเมิน คะแนน (เต็ม 20)

1. รายงาน คะแนนเต็ม 10 คะแนน

1.1 เนื้อหาสาระ (6 คะแนน)

1.1.1 ความเป็นเอกภาพของเนื้อหา หมายถึง การนำเสนอรายงานแบ่งเป็นบท/หัวข้อ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ไม่แยกเป็นชั้นๆ 1 คะแนน

1.1.2 ความถูกต้อง-ตรงประเด็น หมายถึง ถูกต้องตามหลักวิชาการ นำเสนอตรงประเด็นไม่วกไปเวียนมาจนหาข้อสรุปไม่ได้ 3 คะแนน

1.1.3 ความสำรวม หมายถึง ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองด้วยความละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ และระมัดระวัง ว่าถูกต้อง มีเหตุผลเพียงพอ และไม่ขัดแย้งกัน 1 คะแนน

1.1.4 ยึดผู้อ่าน หมายถึง การที่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายด้วยการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีเนื้อหาสาระเพียงพอที่ผู้อื่นอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ 1 คะแนน


1.2 การจัดรูปแบบ (2 คะแนน)

1.2.1 รูปแบบเหมาะสม หมายถึง การจัดรูปแบบการพิมพ์ในรูปแบบเดียวกันสอดคล้องกันทั้งเล่ม มีหัวข้อหลัก หัวข้อรอง หัวข้อย่อย มีเลข-ตัวอักษรกำกับหัวข้อที่เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม 1 คะแนน

1.2.2 ส่วนประกอบของรายงานครบถ้วน ได้แก่ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิง 1 คะแนน

1.3 การใช้ภาษา (2 คะแนน)

1.3.1 ความแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึง อ่านได้ใจความชัดเจน เขียนด้วยประโยคที่สมบูรณ์ กะทัดรัด ได้ใจความ ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คงเส้นคงวา สุภาพ และ
ไม่สะดุด-ติดขัด 1 คะแนน

1.3.2 การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเขียนสะกด การันต์ถูกต้อง ไม่ใช้ภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน ฯลฯ 1 คะแนน

2. สื่อประกอบการนำเสนอ คะแนนเต็ม 5 คะแนน

2.1 สาระครบถ้วน สมบูรณ์ (2 คะแนน)

2.2 ออกแบบเหมาะสม สวยงาม 2 คะแนน

2.3 สะดวกต่อการนำไปใช้งาน 1 คะแนน


3. การนำเสนอผลงาน คะแนนเต็ม 5 คะแนน

3.1 เทคนิคการนำเสนอ (3 คะแนน)

3.1.1 ใช้ภาษา ถูกต้อง ชัดเจน และเหมาะสม 1 คะแนน

3.1.2 สามารถถ่ายทอดให้เข้าใจได้ง่าย 1 คะแนน

3.1.3 สามารถทำให้ผู้ฟังรับฟังด้วยความตั้งใจ และมีส่วนร่วม 1 คะแนน


3.2 การตรงต่อเวลา (2 คะแนน)

3.2.1 จัดส่งรายงานตามกำหนดเวลา 1 คะแนน

3.2.2 นำเสนอ โดยใช้สื่อประกอบการนำเสนอตามกำหนดเวลา 1 คะแนน

ท้ายสุดนี้ ให้นักศึกษามีความสุขในการเรียน และอย่าเครียดมาก

วันจันทร์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2551

วิชา เทคโนโลยีการศึกษา (103111)

สวัสดีค่ะ นศ. กศปช. ปฐมวัย หมู่ 2 ทุกคน

ในภาคการศึกษา2/2552 นี้ ซึ่งทุกคนได้ลงทะเบียนเรียนวิชานี้กับอาจารย์ และผศ.ดร.รัฐกรณ์ วิชานี้เป็นวิชาที่ประยุกต์ทฤษฎีสู่การปฏิบัติ จึงมีคะแนนการมอบหมายงาน 60 คะแนน และสอบปลายภาคอีก40 คะแนน เพื่อความชัดเจนสำหรับการร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน อาจารย์และผศ.ดร.รัฐกรณ์ จึงร่วมกำหนดเกณฑ์การให้คะแนน และงานมอบหมาย มีรายละเอียดดังนี้

การมอบหมายงาน วิชา 103111 เทคโนโลยีการศึกษา
คะแนนระหว่างภาค 60 คะแนน

1. เวลาเรียนและความรับผิดชอบ 10 คะแนน

2. คะแนนงานปฏิบัติ 50 คะแนน
2.1 งานรายบุคคล 30 คะแนน
2.1.1 ผลิตชิ้นงานวัสดุกราฟิก
- ขยายภาพ จำนวน 1 ชิ้นงาน (10 คะแนน)
- โปสเตอร์ จำนวน 1 ชิ้นงาน (10 คะแนน)
2.1.2 การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ 10 คะแนน

2.2 งานรายกลุ่ม 20 คะแนน
งานออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้ 1 ชิ้นงาน (20 คะแนน)
(โดยการจัดทำเป็นโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ชิ้นงานนวัตกรรม และนำเสนอผลงานกลุ่ม)
วิธีการ
1. ให้นักศึกษาจัดแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 คน (รวม 8 กลุ่ม)
2. ให้นักศึกษาพิจารณาเลือกนวัตกรรมการศึกษาแบบดั้งเดิม เช่น บทเรียนสำเร็จรูป ชุดการสอน แบบฝึกทักษะ หนังสืออ่านเสริม ชุดการสอน ฯลฯ มาจัดทำโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ดำเนินการผลิตนวัตกรรม และนำเสนอผลงานกลุ่มเป็นชิ้นงานนวัตกรรมที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันพัฒนาขึ้น
หรือให้นักศึกษาพิจารณาเลือกนวัตกรรมการศึกษาและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ที่ ทันต่อยุคสมัย เช่น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน E-Book ฯลฯ มาจัดทำโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ดำเนินการผลิตนวัตกรรม และนำเสนอผลงานกลุ่มเป็นชิ้นงานนวัตกรรมที่สมาชิกกลุ่มร่วมกันพัฒนาขึ้น
3. การจัดทำโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม ให้มีรายละเอียดตามหัวข้อที่ได้กำหนดให้ และยึดหลักการเขียนรายงานทางวิชาการ
4. การอ้างอิง/บรรณานุกรม ให้ยึดตามหลักการเขียนของบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา (ศึกษาจากคู่มือ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฎนครราชสีมา)

คะแนนสอบปลายภาค 40%

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2551

รายงานการประเมินผล

การสรุปรายงานการประเมินผล (report)โครงการฝึกอบรมที่ร่วมกันดำเนินการไปแล้วนั้น ในวันพุธ ที่ 27 ส.ค.51 ให้นศ.ได้ร่วมอภิปรายกลุ่ม วิเคราะห์ผลการประเมินการฝึกอบรมตามเครื่องมือที่เราได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น และเก็บข้อมูลจากผู้เข้ารับการฝึกอบรม และตัวแทนคณะทำงานที่ได้ทำการประเมินวิทยากร และพฤติกรรมผู้เข้ารับการฝึกอบรม
อาจารย์จึงสรุปเอกสารนี้ ให้เพื่อเป็นแนวทางในการสรุปรายงานผลของนศ. ขอให้นศ.ได้ทำตามคำ แนะนำ ดังนี้

รายงานการประเมินผล อาจแบ่งเป็นบท หรือตอนก็ได้ แล้วแต่ความหนาของสาระที่เขียนโดยทั่วไป จะประกอบด้วยสาระสำคัญต่างๆ ดังต่อไปนี้

บทนำ
(เป็นการให้ข้อมูลโดยย่อเกี่ยวกับโครงการฝึกอบรมนั้น)
- ความเป็นมาของโครงการฝึกอบรมนั้น
- ช่วงเวลา และสถานที่ที่ดำเนินการฝึกอบรม
- วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ
- จำนวนและโปรแกรมสังกัดของนักศึกษาผู้เข้ารับการอบรม
- จุดมุ่งหมายของการประเมินผลครั้งนี้

บทที่ 1 ระเบียบวิธีการประเมินผล

1.1 วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
1.2 ขอบเขตของการประเมินผล

ข้อ 1.1 และ 1.2 ข้อมูลได้จาก “กระดาษทำการเพื่อกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล (focusing worksheet)”

วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
1. เพื่อประเมินผลการได้รับความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา
2. เพื่อประเมินผลทักษะในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา
3. เพื่อประเมินผลการเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการศึกษา


ระยะเวลาของการประเมินผล วันที่ 27 สิงหาคม 2551

ความรับผิดชอบของผู้ประเมิน
วิเคราะห์และสรุปรายงานการประเมินผลการเสนอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเป็นรายงานประเมินผลการฝึกอบรม

การเสนอรายงาน
วิเคราะห์และสรุปรายงานการประเมินผลการเสนอรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเป็นการเสนอรายงานประเมินผลการฝึกอบรม


1.3 วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล

1.4 วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
(จะวิเคราะห์ข้อมูลเรียงตามวัตถุประสงค์ของการประเมินผลแต่ละข้อ)

- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล ข้อที่ 1
“1. เพื่อประเมินผลการได้รับความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา”
- ประเด็นที่วิเคราะห์
- ผลที่พบจากการประเมิน

- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล ข้อที่ 2
“2. เพื่อประเมินผลทักษะในการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษา”
- ประเด็นที่วิเคราะห์
- ผลที่พบจากการประเมิน

- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล ข้อที่ 3
“3. เพื่อประเมินผลการเห็นความสำคัญของการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีการศึกษา”
- ประเด็นที่วิเคราะห์
- ผลที่พบจากการประเมิน

(สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่างๆ โดยอาจอยู่ในรูปของตารางพร้อมการอธิบายความ)

บทที่ 2 ให้นศ. นำข้อมูลที่ได้จาก แบบสังเกตการณ์แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากรและพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม และแบบประเมินผลโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ข้อ 4 (ที่ถามเกี่ยวกับการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการแต่ละข้อ) มาทำการวิเคราะห์ และสรุป

บทที่ 3 สรุปและข้อเสนอแนะ

3.1 สรุปผลของการประเมิน ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินผลแต่ละข้อ

3.2 สรุปข้อดี และข้อควรปรับปรุง (ของโครงการฝึกอบรมดังกล่าว)

3.3 ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับ
3.3.1 ปัญหาที่พบในการจัดโครงการดังกล่าว
3.3.2 พฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรมในโครงการฯ นี้

(ข้อ 3.3.2 ให้นศ.นำข้อมูลจาก แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากรและพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม ทั้ง 3 หัวข้อ มาวิเคราะห์และสรุป )

3.4 ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการฯ (ของผู้เข้ารับการอบรมและผู้รับผิดชอบโครงการฯ เอง)

3.5 ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ

(ข้อ 3.5 ให้นศ. นำข้อมูลที่ได้จากข้อ 2. นอกจากการหัวข้อวิชาต่างๆ ที่ใช้ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีทางการศึกษา สำหรับนักศึกษา คบ 5 ปี” ( ตามข้อ 1 ) ท่านคิดว่า ยังมีหัวข้อวิชาใดบ้างที่ควรเพิ่มเติม (โปรดระบุ)…..ทำให้เราได้ข้อมูลอื่นๆ ความต้องการในการฝึกอบรมของกลุ่มนศ. คบ 5 ปี

ข้อมูลที่ได้จากข้อ 5 ท่านคิดว่า เป็นการคุ้มค่าหรือไม่ ในการเข้ารับการอบรมครั้งนี้ และข้อมูลที่ได้จากข้อ 8 ข้อเสนอแนะอื่นๆ มาทำการวิเคราะห์และสรุป)

บทที่ 3 ให้นศ.นำข้อมูลจาก แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากรและพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม และแบบประเมินผลโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ มาทำการวิเคราะห์และสรุป

ภาคผนวก

1. รายละเอียดโครงการฝึกอบรม หรือหลักสูตรการฝึกอบรม
2. กำหนดการของโครงการฝึกอบรม
3. รายชื่อนักศึกษาผู้เข้ารับการฝึกอบรม โปรแกรมวิชา ชั้นปี
4. รายชื่อวิทยากร ตำแหน่ง หน่วยงานที่สังกัด
5. เอกสารประกอบการฝึกอบรม
6. ผลงานของผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ หลักฐานแสดงผลงาน ..... ภาพประกอบการฝึกอบรม ....ภาพที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมฟังการบรรยาย และภาพระหว่างการปฏิบัติการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษาของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ฯลฯ

ตั้งชื่อ เอกสารนี้ว่า “ประมวลภาพการปฏิบัติการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยีการศึกษาของผู้เข้ารับการฝึกอบรม” โดยอธิบายใต้ภาพด้วย

7. ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับปัญหาที่พบในการจัดโครงการและพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรม

(ให้นศ. สรุปออกมาเป็น...ประเด็น/เรื่อง พร้อมข้อมูลสนับสนุน ว่าได้ข้อมูลจากอะไร...เช่น จากแบบสังเกตการณ์ฯ จากการสังเกตการมีส่วนร่วมในกิจกรรม ฯลฯ)

8. เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่

8.1 แบบสังเกตการณ์การบรรยายของวิทยากร และพฤติกรรมของผู้เข้าอบรม
8.2 แบบประเมินผลโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ

9. ประมวลภาพการดำเนินกิจกรรมการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการฯ ได้แก่ ภาพของวิทยากร คณะผู้รับผิดชอบโครงการ ประธานในพิธีเปิด ภาพรวมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม ฯลฯ โดยอธิบายใต้ภาพด้วย

วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2551

learning atmosphere






















วันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เกณฑ์การให้คะแนน

เกณฑ์การให้คะแนนการเขียนโครงการฝึกอบรม
ผลงานกลุ่มย่อย คะแนนเต็ม 20 คะแนน (100%)

1. เนื้อหาสาระ (60%) = 12 คะแนน

1.1 ความเป็นมาของโครงการ (20%) = 4 คะแนน

1.2 ความคุ้มค่า - ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการ (20%) = 4 คะแนน

1.3 ความเป็นไปได้ในการบริหารโครงการ ทั้ง 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเตรียมการก่อนการฝึกอบรม ระยะระหว่างดำเนินการฝึกอบรม และระยะหลังดำเนินการฝึกอบรมแล้ว (20%) = 4 คะแนน

2. การใช้ภาษา (20%) = 4 คะแนน

2.1 ความแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึง อ่านได้ใจความชัดเจน เขียนด้วยประโยคที่สมบูรณ์ กะทัดรัด ได้ใจความ ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คงเส้นคงวา สุภาพ และ ไม่สะดุด-ติดขัด (10%) = 2 คะแนน
2.2 การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเขียนสะกด การันต์ถูกต้อง ไม่ใช้ภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน (10%) = 2 คะแนน


3. การจัดรูปแบบ (20%) = 4 คะแนน

3.1 รูปแบบเหมาะสม หมายถึง การจัดรูปแบบการพิมพ์ในรูปแบบเดียวกันสอดคล้องกันทั้งโครงการ
มีหัวข้อหลัก หัวข้อรอง หัวข้อย่อย มีเลข-ตัวอักษรกำกับหัวข้อที่เป็นรูปแบบเดียวกัน (10%) = 2 คะแนน
3.2 ส่วนประกอบของโครงการครบถ้วน (10%) = 2 คะแนน
ได้แก่
1. ชื่อโครงการ
2. ชื่อผู้เสนอและคณะ หน่วยงานที่สังกัด
3. ความเป็นมาของโครงการ
4. วัตถุประสงค์ของโครงการ
5. แผนหลักสูตรในโครงการ
6. วิธีการดำเนินงาน
7. รายละเอียดหลักสูตรต่างๆ ที่ระบุในโครงการ ประกอบด้วย
7.1 ชื่อหลักสูตร
7.2 หลักการ เหตุผล
7.3 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
7.4 หัวข้อการฝึกอบรม
7.5 ระยะเวลา
7.6 ผู้เข้ารับการอบรม
7.7 วิทยากร
7.8 วิธีการฝึกอบรม
7.9 วัน เวลา สถานที่
7.10 ผลที่คาดว่าจะได้รับ
7.11 การประเมินผล
7.12 งบประมาณต่อหลักสูตรต่อคน
8. ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข
9. ผู้รับผิดชอบโครงการ


เกณฑ์การให้คะแนนการบริหารโครงการฝึกอบรม
(ปฏิบัติการจัดการฝึกอบรม และประเมินผล (รายกลุ่ม: กลุ่มใหญ่) คะแนนเต็ม 20 คะแนน) (100%)


1. ระยะเตรียมการก่อนการฝึกอบรม (30%) = 6 คะแนน
1.1 ติดต่อ-เชิญวิทยากร
1.2 ติดต่อสถานที่
1.3 เตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรม
1.4 คัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม
1.5 จัดเตรียมงบประมาณ
1.6 ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
1.7 เตรียมเอกสารพิธีการ/หนังสือราชการ
1.8 การเตรียมสถานที่อุปกรณ์ และจัดทำป้ายต่างๆ
1.9 การเตรียมการสำหรับวันเปิดการฝึกอบรม

พิจารณาให้คะแนน ครบ 3 ข้อย่อย ได้ 2 คะแนน (ครบ 9 ข้อย่อย ได้ 6 คะแนน)

2. ระยะระหว่างดำเนินการฝึกอบรม (30%) = 6 คะแนน ได้แก่
2.1 ตรวจสอบความพร้อมทั่วๆ ไป
2.2 การลงทะเบียน
2.3 พิธีกร
2.4 การต้อนรับ
2.5 พิธีเปิด
2.6 ผู้บริหารโครงการชี้แจงรายละเอียดหลักสูตร
2.7 การแนะนำวิทยากร และกล่าวขอบคุณ
2.8 การเตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรมให้พร้อม
2.9 การอำนวยความสะดวก


พิจารณาให้คะแนน ครบ 3 ข้อย่อย ได้ 2 คะแนน (ครบ 9 ข้อย่อย ได้ 6 คะแนน)

3. ระยะหลังดำเนินการฝึกอบรมแล้ว (40%) = 8 คะแนน ได้แก่

3.1 การประเมินผลโครงการฝึกอบร(20%) = 4 คะแนน ได้แก่
1. กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมินผล (focus)
2. วางแผนการประเมิน (plan)
3. ดำเนินการตามแผน (implement)

3.2 สรุปรายงานการประเมินผล (report) (20%) = 4 คะแนน ประกอบด้วย

บทนำ (2%) = 0.4 คะแนน
- ความเป็นมาของโครงการฝึกอบรมนั้น
- ช่วงเวลา และสถานที่ที่ดำเนินการฝึกอบรม
- วัตถุประสงค์หลักของโครงการฯ
- จำนวนและหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เข้ารับการอบรม
- จุดมุ่งหมายของการประเมินผลครั้งนี้

บทที่ 1 ระเบียบวิธีการประเมินผล (4%) = 0.8 คะแนน
- วัตถุประสงค์ของการประเมินผล
- ขอบเขตของการประเมินผล
- วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล
- วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล (4%) = 0.8 คะแนน
สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่างๆ โดยอาจอยู่ในรูปของตารางพร้อมการอธิบายความ

บทที่ 3 สรุปและข้อเสนอแนะ (6%) = 1.2 คะแนน
- สรุปผลของการประเมิน ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินผลแต่ละข้อ
- สรุปข้อดีและข้อควรปรับปรุง (ของโครงการฝึกอบรมดังกล่าว)
- ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับ
- ปัญหาที่พบในการจัดโครงการดังกล่าว
- พฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรมในโครงการฯ นี้
- ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ
- ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงโครงการฯ (ของผู้เข้ารับการอบรมและของผู้ประเมินเอง)

ภาคผนวก (4%) = 0.8 คะแนน
ได้แก่
1. รายละเอียดโครงการฝึกอบรม หรือหลักสูตรการฝึกอบรม
2.กำหนดการของโครงการฝึกอบรม
3. รายชื่อผู้เข้ารับการฝึกอบรม และรายชื่อวิทยากร ตำแหน่ง หน่วยงานที่สังกัด
4. ผลงานของผู้เข้ารับการอบรม ได้แก่ ชิ้นงาน สรุปรายงาน (เป็นเอกสาร หรือภาพประกอบ)
5. ข้อสังเกตของผู้รับผิดชอบโครงการฯ เกี่ยวกับปัญหาที่พบในการจัดโครงการและพฤติกรรมของผู้เข้ารับการอบรม
6. เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบความรู้ แบบประเมินผลต่างๆ




วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเขียนรายงานเชิงวิชาการ

ดร. สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ
การเขียนรายงานเป็นการนำเสนอผลจากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย จึงจำเป็นต้องมีระบบการนำเสนอที่มีหลักการ มีเหตุมีผล และผู้เขียนรายงานนั้น จะต้องอาศัยความรอบรู้ ประสบการณ์ ทักษะ และการหมั่นฝึกฝนการเขียนอยู่เสมอ เพื่อให้รายงานทางวิชาการที่เขียนขึ้นมีคุณภาพ เชื่อถือได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ในที่นี้ ผู้เขียนจะนำเสนอ สาระสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการเขียนรายงานเชิงวิชาการ ดังนี้
รายงานเชิงวิชาการ เป็นรายงานที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ซึ่งมีระเบียบวิธีการที่เป็นระบบ และมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เนื้อหาของรายงานมุ่งเสนอแต่ผลที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า ไม่มีการต่อเติม เสริมแต่งความรู้สึกนึกคิดของผู้รายงานรวมเข้าไปด้วยแต่อย่างใด
รายงานประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ
1. ส่วนนำ (Preliminary Materials) เป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอรายงานเชิงวิชาการนั้น
2. ส่วนเนื้อเรื่อง (Body of Report) เป็นส่วนที่จะกล่าวถึงเนื้อเรื่องของรายงานเชิงวิชาการนั้นทั้งหมด
3. ส่วนอ้างอิง (Reference Materials) เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมให้รายงานเชิงวิชาการนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการเขียนรายงาน
ผู้เขียนรายงานวิชาการ ควรเริ่มการดำเนินกาอย่างเป็นขั้นตอน ตามลำดับเพื่อสะดวกในการเขียน ได้แก่ กำหนดหัวข้อเรื่อง กำหนดขอบเขตและทำความเข้าใจกับหัวข้อเรื่อง วางโครงเรื่อง รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร/แหล่งสารสนเทศต่างๆ รวบรวมข้อมูลภาคสนาม เขียนฉบับร่าง แก้ไขและขัดเกลา ส่งให้เพื่อน และผู้รู้อ่าน เพื่อวิจารณ์ และขั้นสุดท้าย คือ เขียนฉบับสมบูรณ์

หลักการเขียนรายงาน
1. การจัดรูปแบบ หมายถึง ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามมหาวิทยาลัย/สถาบันได้กำหนด โดยมีหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง หัวข้อย่อย โดยจัดวางสอดคล้อง
กันทั้งเล่ม เช่น กำหนดเลข-ตัวอักษรกำกับหัวข้อในรูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม

หัวข้อใหญ่ (ตัวอักษรหนาดำ 16 Point)
1. หัวข้อรอง (ตัวอักษรหนาดำ 16 Point)
1.1 หัวข้อย่อย
1.1.1 หัวข้อย่อย
1.1.1.1 หัวข้อย่อย
ก.
ข.
1)
2)
3)

2. ความเป็นเอกภาพของเนื้อหา หมายถึง การเรียบเรียงเนื้อหาในรายงานตั้งแต่ต้นจนจบจะต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอด ไม่ว่าจะแบ่งเป็นบท หรือเป็นหัวข้อ แต่ละบท แต่ละหัวข้อจะต้องสอดคล้องต่อเนื่องกันกับบทหรือหัวข้ออื่นๆ ต่อๆ กันไป ไม่ควรนำเพียงแต่ข้อมูล เนื้อหาต่างๆ มาปะติดปะต่อกัน
3. ความแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึง ข้อความทุกประโยค ทุกหัวข้อ ทุกตอนจะต้องแจ่มแจ้ง และอ่านได้ใจความชัดเจน เขียนด้วยประโยคสมบูรณ์ สั้นกระทัดรัด ได้ใจความ และการใช้ภาษาในการเขียนรายงาน มีความถูกต้อง ได้สาระสมบูรณ์ ชัดเจน กะทัดรัด ลำดับความดี แต่ละวรรคตอนเป็นเอกภาพ ความแต่ละวรรคตอน เชื่อมโยงกลมกลืนสัมพันธ์กันดี คงเส้นคงวา ตรงประเด็นตรงจุด ถ้อยคำมีเหตุผลน่าเชื่อถือได้ สุภาพ และลื่นไหล ไม่สะดุด-ติดขัด
4. ความถูกต้อง หมายถึง เนื้อหา ภาษาที่ใช้จะต้องถูกต้องตามหลักวิชาและมีเหตุมีผล
5. ตรงประเด็น หมายถึง เรียบเรียงข้อความ เนื้อหาให้ตรงประเด็นที่ต้องการเสนอ ต้องการอะไร ให้นำเสนอไปอย่างนั้น ไม่ต้องเขียนวกวนไปเวียนมา จนหาข้อสรุปไม่ได้ และไม่ควรตั้งหัวข้ออย่างหนึ่ง แล้วเขียนไปอีกอย่างหนึ่ง
6. ความสำรวม หมายถึง ข้อความทุกข้อความ ทุกประโยค หรือทุกตัวอักษรที่เขียนในรายงานต้องสำรวม ระมัดระวัง พิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน และรอบคอบแล้วว่า มีความถูกต้อง มีเหตุผลเพียงพอ และไม่ขัดแย้งกัน
7. การอ้างอิง หมายถึง การอ้างอิงต้องทำอย่างถูกต้องตามสากลนิยม ถูกต้องตามหลักการ ทั้งนี้ให้ยึดเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย/สถาบันกำหนด และผู้เขียนรายงาน พึงตระหนักถึงจรรยาบรรณ เมื่อมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นต้องอ้างอิงถึงเจ้าของผลงานทุกครั้ง
8. ยึดผู้อ่าน หมายถึง การเขียนรายงานที่ผู้เขียนต้องพยายามอธิบาย บรรยายด้วยภาษาที่ง่าย และให้มีเนื้อหาอย่างเพียงพอที่ผู้อื่นมาอ่านแล้วเขาจะสามารถทำความเข้าใจได้ พึงระลึกว่า “เราเขียนให้ผู้อื่นอ่านมิใช่ให้ตนเองอ่าน”
9. ทันสมัย หมายถึง เนื้อหาสาระในรายงานมีความทันสมัย ทันกาล มีการปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบันในเชิงวิชาการ การพัฒนาในศาสตร์สาขานั้นๆ

สรุป
การเขียนรายงานเชิงวิชาการให้มีคุณภาพได้นั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนตามลำดับ ศึกษา ค้นคว้าสารสนเทศจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ เช่น เป็นผลงานของสถาบัน/องค์กรที่เชื่อถือได้ เป็นผลงานของบุคคลที่ได้รับการยอมรับในศาสตร์สาขานั้นๆ ฯลฯ และผู้เขียนรายงานจะต้องหมั่นฝึกฝนทักษะในการอ่าน วิเคราะห์ สังเคราะห์ และทักษะการเขียน และทำการเขียนรายงานโดยยึดหลักการเขียนรายงานที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ การนำเอกสาร หรือสารสนเทศจากแหล่งต่างๆ มาทำการศึกษาจึงควรพิจารณาในเงื่อนไขด้านเวลาด้วย เช่น การอ้างอิงจากหนังสือไม่ควรเกิน 10 ปี จากเว็บไซต์ หรือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ควรเกิน 5 ปี และจากรายงานวิจัยไม่ควรเกิน 5 ปี

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กำหนดการนำเสนอโครงการ

สวัสดีค่ะ นักศึกษาเทคโนฯ ทุกคน
อาจารย์แจ้งกำหนดการนำเสนอโครงการ รายกลุ่ม(ย่อย) ในวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2551 นะคะ แล้วพวกเราจะพิจารณาร่วมกันว่าโครงการของกลุ่มไหน มีความเหมาะสม เป็นไปได้สูง คุ้มค่าที่สุด ที่จะได้รับเลือกไปจัดฝึกอบรม ซึ่งเป็นงานกลุ่มใหญ่ ที่นักศึกษาทุกคนต้องช่วยกันดำเนินการให้ลุล่วงด้วยดี ทั้งด้านการบริหารโครงการ ก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการฝึกอบรม ทำการประเมินผลฯ พร้อมสรุปผลการประเมินผลการดำเนินการจัดฝึกอบรมด้วย ทั้งนี้จะทำเป็นรูปเล่มรายงาน
ช่วงนี้เราจะมีกิจกรรมการทัศนศึกษาในวันที่ 14-15 สิงหาคมนี้ ที่กทม และไปพักผ่อนชายทะเลที่สถานพักตากอากาศบางละมุง ก็ให้นักศึกษาเร่งเคลียร์งานของแต่ละวิชาให้ดี อะไรที่พอจะจัดทำล่วงหน้าไว้ก่อนได้ก็ให้ทำซะ บริหารเวลาให้ดี อย่าให้ต้องไปเที่ยวแบบมีห่วงหน้าพะวงหลัง หรืองานค้างต้องมารีบลุยงานเพื่อให้ทันส่ง อาจารย์หวังว่าทุกคนจะรับผิดชอบตัวเองได้ แบ่งเวลาในการเรียนและทำกิจกรรมได้เหมาะสม
อาจารย์ขอฝากเรื่องแต่งกายด้วย ให้นักศึกษาแต่งชุดนักศึกษาที่ถูกระเบียบ (ห้ามใส่เสื้อชอป กางเกง กระโปรงยีนส์ ใส่รองเท้าแตะ) ในการไปศึกษาดูงานของเรา โดยเฉพาะเราเป็นรุ่นพี่เมื่อไปกับรุ่นน้องต้องแต่งตัวให้มีบุคลิกลักษณะที่เป็นแบบอย่างให้น้องได้ วางตัวให้เหมาะสมกับเป็นนักศึกษาในวิชาชีพครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง อยากให้พวกเราภูมิใจในสถาบัน การที่ได้แต่งชุดนักศึกษาถือว่าเป็นชุดที่มีเกียรติ ดังนั้นนักศึกษาควรตระหนักด้วยในเรื่องนี้
อาจารย์เข้าใจว่า บางทีคนเราก็อยากแต่งตัวสบายๆ แต่ต้องให้ถูกกาละเทศะด้วย เวลาไม่มีเรียน นอกเวลาราชการ นอกสถาบัน ในเวลาพักผ่อนของเราๆ จะแต่งยังไงก็ไม่ว่าหรอก เต็มที่เลย แฟชั่นได้เต็มที่ แต่ขอแค่ให้ถูกกาละเทศะ เวลามาเรียน หรืออยู่ในสถานที่ราชการ นักศึกษาต้องรู้ว่าเราควรทำอย่างไรนะคะ ต่อไปก็หวังว่าจะไม่มีใครที่แต่งตัวไม่เรียบร้อยมาเรียนให้อาจารย์เห็นนะคะ ไม่อยากให้ใครมาว่านักศึกษาโปรแกรมเทคโนฯ ให้เขาไปยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยอื่นล่ะกัน คิดว่าคงไม่หนักหนาเกินไปนะ ในเรื่องนี้ที่เราจะทำให้ถูกต้องตามระเบียบ พวกเราน่ารักอยู่แล้ว แค่นี้จิ๊บๆๆ ใช่ไหม