วันอาทิตย์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2551

30 มิถุนายน 2551

สวัสดีค่ะ
นักศึกษาทุกคน
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ การเรียนในเดือนหนึ่งที่ผ่านไป ไวหรือเปล่า เผลอแป๊บๆ หมดฤดูกาลรับน้องแล้ว หวังว่า พี่ๆ ที่น่ารักจะกลับมาตั้งใจเรียนให้เป็นตัวอย่างทีดีของน้องๆ การร่วมกิจกรรมต่างๆ กับการเรียนนั้นต้องควบคู่กันไป อยากให้นักศึกษาแบ่งเวลาให้เป็น ระหว่างการเรียน กิจกรรม และบันเทิง อย่าสุดโต่งทางใดทางหนึ่ง...มันไม่ดี ชีวิตจะขาดรสชาดไป เวลาในการเรียนระดับป.ตรีนี้ สนุกสุดๆ แล้วนะ อาจารย์คิดเช่นนี้ อาจเพราะอยู่ในช่วงวัยที่ยังอยากจะสนุกสนาน พออายุมากกว่านี้ เรียนระดับสูงขึ้น ก็มีภาระงานเข้ามา หรือบางคนก็มีภาระครอบครัว คงจะไม่เหมือนเวลาเช่นนี้หรอก ก็ขอให้ใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ละกัน แล้วก็อย่าลืมทำการบ้าน ทำรายงานส่งอาจารย์ในทุกๆ วิชาด้วยละ สำหรับวิชาฝึกอบรมฯ ก็ใกล้แล้วนะที่จะต้องส่งโครงการ ก็ปรึกษากับเพื่อนในกลุ่มได้แล้ว อย่าปล่อยให้จวนตัว เดี๋ยวจะทำไม่ทันกาล เพราะว่าเราจะมีกิจกรรมอีกหลายรายการ เช่น การไปทัศนศึกษาของโปรแกรมเทคโนฯ ปี1 และปี3 (คิดออกยังจะไปกันที่ไหน แต่ฟังๆ เสียงส่วนใหญ่ อยากไปทะเลกันล่ะนะ ส่วนงานเกษียณฯ ที่จะจัดแบบประชุมวิชาการในภาคเช้า และภาคกลางคืนเป็นงานเลี้ยง+มุฑิตาจิต พวกเราก็จะต้องมีส่วนร่วมช่วยกันทำให้งานสำเร็จ เรียบร้อยและงานพระราชทานปริญญาบัตร กำหนดการยังไม่แน่ชัด (ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยจะปิดการเรียนการสอน พวกเราหลายๆ คน ก็มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านโสตฯ ในงานนี้อีก) กิจกรรมเยอะเลยนะ ก็ขอให้นักศึกษาวางแผนการเรียน และการทำงานส่งแต่ละรายวิชาให้ดีนะคะ
นักศึกษาคนไหนมีปัญหาสงสัยในการเรียน ก็หาเวลามาคุยกับอาจารย์ได้ โทรนัดก่อนล่ะกัน ยินดีเสมอค่ะ

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2551

การเรียนในสัปดาห์ที่ 2

ศุกร์ 13 มิถุนายน 2551
สวัสดีค่ะ นักศึกษาทุกคน วันนี้เป็นการเรียนในครั้งที่สองแล้วนะคะ นักศึกษาก็จะได้รับงานที่จัดส่งแล้วอาจารย์ตรวจให้ พร้อมcomment ก็พบข้อบกพร่องบ้าง เป็นเรื่องปกตินะ แต่คิดว่านักศึกษาจะปรับปรุงให้งานครั้งต่อไปมีคุณภาพมากขึ้น ตามคำแนะนำ ครั้งแรกก็ถือว่ายกประโยชน์ให้จำเลยไปก่อน ชิมลางไปก่อนนะคะ
การเรียนการสอนในครั้งนี้ อาจารย์ได้บรรยายถึงหลักจิตวิทยาในการฝึกอบรม และหลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งเหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่ และก็ได้ฝึกให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงจากการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม PL ในการทำกิจกรรมกลุ่ม (ซึ่งในblog นี้อาจารย์ก็ได้อัพโหลดบทความให้นักศึกษาได้เข้าไปศึกษาเพิ่มเติมด้วย) นักศึกษาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่ได้อ่านบทความวิจัย กิจกรรมของเราจึงสะดุดบ้าง แต่ถือว่าได้ฝึกลองอ่าน จับประเด็น ทำความเข้าใจ และวิพากษ์งานวิจัย ในประเด็นสำคัญของการนำทฤษฎีจิตวิทยาการฝึกอบรมมาใช้ในการพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม (ชื่อเรื่องงานวิจัยที่นำมาให้นักศึกษาได้อ่าน ชื่อ การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมเทคนิคการสอนความคิดสร้างสรรค์สำหรับครูประถมศึกษา ) ไม่เป็นไรนะคะ หากครั้งแรก อาจจะอ่านยากไปนิด แต่พอคุ้นเคย พอนักศึกษาค้นคว้างานวิจัยในชิ้นต่อๆ ไปจะได้อ่านคล่องขึ้นแล้วสามารถศึกษาได้ด้วยตนเอง การศึกษาค้นคว้าอ่านงานวิจัยมากๆ ทำให้ได้ความรู้แบบสำเร็จรูป งานวิจัยที่มีคุณภาพในแต่ละเรื่องผ่านกระบวนการศึกษามาไม่ง่ายเลย ก็เป็นทางลัดที่จะศึกษาในประเด็นที่สนใจได้ไว และไปค้นหาถึงแหล่งต้นตอของศาสตร์นั้นๆ ได้อีก
งานมอบหมายครั้งนี้ ก็เป็นการสรุปทฤษฎีจิตวิทยาในการฝึกอบรมมาส่ง 8 ทฤษฎี (โดยไม่ลอกชีสอาจารย์มาส่ง ให้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ) พร้อมอ้างอิงให้ถูกต้องตามหลักคู่มือบัณฑิตวิทยาลัย ส่งวันพุธที่ 18 มิถุนายน 2551 นะคะ

หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

ดร.สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ

หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning: PL) ซึ่งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (2544 : 8 - 21) ได้สรุปหลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ไว้ดังนี้
หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีพัฒนาการจากการที่นักปรัชญาการศึกษา Deweyian
ได้เริ่มใช้วิธีการเรียนรู้จากการกระทำ (learning by doing) ซึ่งเป็นพื้นฐานการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่ดึงความสามารถของผู้เรียนออกมาในรูปของการเรียนรู้ ที่เรียกว่า active learning ผู้เรียนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากขึ้น ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดแก้ปัญหามากขึ้น และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมในการเรียนการสอน ในเวลาต่อมาจึงพัฒนาเป็นรูปแบบการเรียนรู้โดยการแก้ปัญหา (problem solving) การเรียนรู้โดยร่วมมือกัน (cooperative learning) เช่น รูปแบบการสอนที่เรียกว่า problem based solving (PBL)
ในทศวรรษที่ 80 ได้มีการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ (learning process) รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning) ซึ่ง Kolb (1984 อ้างถึงใน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2544 : 8) ได้เสนอว่า ประสบการณ์เป็นแหล่งของการเรียนรู้และพัฒนา Kolb’s model เป็นวงจรของการเรียนรู้ ที่การได้รับความรู้ ทัศนคติ และทักษะจะอยู่ในกระบวนการ 4 องค์ประกอบของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ได้แก่ ประสบการณ์เชิงรูปธรรม (concrete experience) การสังเกตอย่างไตร่ตรอง (reflective observation) มโนทัศน์เชิงนามธรรม (abstract conceptualization) และการทดลองปฏิบัติ (active experimentation)
การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning) ของ Kolb นี้ได้มีนักการศึกษาและนักฝึกอบรมได้นำไปใช้อย่างแพร่หลาย เป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรม (active learning) และยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีชื่อเรียกในหลายชื่อ เช่น experimential learning , prior learning และ participatory learning
การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (participatory learning) เป็นการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคคลทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ และทักษะได้เป็นอย่างดี ผ่านการสังเคราะห์จากผลวิเคราะห์ของการศึกษาวิจัยรูปแบบการเรียนรู้หลายรูปแบบ (meta analysis) จนได้โครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ซึ่งประกอบด้วย วงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning) ผสมผสานกับกระบวนการกลุ่ม (group process) เพราะในแต่ละองค์ประกอบของวงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์นั้น ผู้เรียนแต่ละคนซึ่งมีประสบการณ์ติดตัวมา จะสามารถใช้ประสบการณ์ของตนเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลอดจนทดลองใช้ความรู้ที่เรียนมาไปสู่การปฏิบัติได้ดีนั้น ต้องผ่านกระบวนการกลุ่ม ฉะนั้นการให้ผู้เรียนได้ทำงานเป็นกลุ่ม จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และช่วยกันทำงานให้บรรลุผลสำเร็จได้ด้วยดี

หลักการสำคัญของ (participatory learning)

การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ + การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม


1) การเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experiential learning)

เป็นการเรียนรู้ที่ผู้สอนมุ่งเน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้จากประสบการณ์เดิม มีลักษณะสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

1. เป็นการเรียนรู้ที่อาศัยประสบการณ์ของผู้เรียน
2. ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ท้าทายอย่างต่อเนื่อง และเป็นการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) คือ ผู้เรียนต้องทำกิจกรรมตลอดเวลา ไม่ได้นั่งฟังการบรรยายอย่างเดียว
3. มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนด้วยกันเอง และระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน
4. ปฏิสัมพันธ์ที่มีทำให้เกิดการขยายตัวของเครือข่ายความรู้ที่ทุกคนมีอยู่ออกไปอย่าง กว้างขวาง
5. อาศัยการสื่อสารทุกรูปแบบ เช่น การพูด หรือการเขียน การวาดรูป การแสดงบทบาทสมมุติ ซึ่งเอื้ออำนวยให้เกิดการแลกเปลี่ยน การวิเคราะห์ และสังเคราะห์การเรียนรู้
องค์ประกอบของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์

Kolb (1984 อ้างถึงในกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2544 : 14 -16) ได้กล่าวถึง วงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ ประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญ 4 องค์ประกอบการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ ผู้เรียนควรมีทักษะการเรียนรู้ ทั้ง 4 องค์ประกอบ แม้บางคนจะชอบ/ถนัด หรือ มีบางองค์ประกอบมากกว่า เช่น เคยมีประสบการณ์จริง แต่ถ้าไม่ชอบแสดงความคิดเห็นหรือไม่นำประสบการณ์มาร่วมอภิปราย ผู้เรียนนั้นจะขาดการมีทักษะในองค์ประกอบอื่น ฉะนั้น ผู้เรียนควรมีทิศทางการเรียนรู้ทุกด้าน และควรมีพัฒนาการเรียนรู้ให้ครบทั้งวงจร หรือทั้ง 4 องค์ประกอบ ดังนี้

ประสบการณ์ (experience)
การสะท้อน/อภิปราย (reflection/discussion)
การทดลอง/ประยุกต์แนวคิด
(experimentation/application)
ความคิดรวบยอด (concept)


1. ประสบการณ์ (experience) ในการฝึกอบรมเนื้อหาที่ใช้ในการให้ความรู้ หรือนำไปสู่การสอนทักษะต่างๆส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ผู้เรียนมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว เช่น ฝึกอบรมเกี่ยวกับการประเมินโครงการให้แก่นักวิชาการ จะเห็นได้ว่าผู้เรียน คือ นักวิชาการ จะมีประสบการณ์เกี่ยวกับการประเมินในกิจกรรมอื่นๆมาก่อน ซึ่งนำมาใช้ในการอบรมครั้งนี้ได้ องค์ประกอบที่เป็นประสบการณ์นี้ ผู้สอนจะพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนซึ่งมีประสบการณ์ดังที่กล่าวแล้ว ได้ดึงประสบการณ์ของตัวเองออกมาใช้ในการเรียนรู้ และสามารถแบ่งปันประสบการณ์ของตนเองที่มีให้แก่เพื่อนๆที่อาจมีประสบการณ์ที่เหมือน หรือต่างไปจากตนเองได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการใช้กระบวนการกลุ่มของผู้สอน การที่ผู้สอนพยายามให้ผู้เรียนได้ดึงประสบการณ์มาใช้ในการอบรมจะทำให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้สอน และผู้เรียน ดังนี้

ผู้เรียน การที่ผู้เรียนได้ดึงประสบการณ์ของตัวเองออกมานำเสนอร่วมกับเพื่อนๆ จะทำให้
ผู้เรียนรู้สึกว่าตัวเองได้มีส่วนร่วมในฐานะสมาชิกคนหนึ่ง มีความสำคัญที่มีคนฟังเรื่องราวของตนเอง และได้มีโอกาสรับรู้เรื่องของคนอื่น ซึ่งจะทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้น ทำให้สัมพันธภาพในกลุ่มผู้เรียนเป็นไปด้วยดี
ผู้สอน ไม่ต้องเสียเวลาในการอธิบาย หรือยกตัวอย่างให้ผู้เรียนฟัง เพียงแต่ใช้เวลาเล็กน้อยกระตุ้นให้ผู้เรียนได้เล่าประสบการณ์ของตนเอง ผู้สอนอาจใช้ใบชี้แจงกำหนดกิจกรรมของผู้เรียนในการนำเสนอประสบการณ์ ในกรณีที่ผู้เรียนไม่มีประสบการณ์ในเรื่องที่จะสอนหรือมีน้อย ผู้สอนอาจจะยกกรณีตัวอย่าง หรือสถานการณ์ก็ได้


2. การสะท้อน และอภิปราย (reflection and discussion) เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ผู้เรียนจะได้แสดงความคิดเห็น และความรู้สึกของตนเองแลกเปลี่ยนกับสมาชิกในกลุ่ม ซึ่งผู้สอนจะเป็นผู้กำหนดประเด็นการ วิเคราะห์ วิจารณ์ ผู้เรียนจะได้เรียนรู้ถึงความคิด ความรู้สึกของคนอื่นที่ต่างไปจากตนเองจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่กว้างขวางขึ้น และผลของการสะท้อนความคิดเห็น หรือการอภิปรายจะทำให้ได้ข้อสรุปที่หลากหลาย หรือมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ขณะทำกลุ่มผู้เรียนจะได้เรียนรู้ถึงการทำงานเป็นทีม บทบาทของสมาชิกที่ดีที่จะทำให้งานสำเร็จ การควบคุมตนเอง และการยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น องค์ประกอบนี้ จะช่วยทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทั้งด้านความรู้ และเจตคติ ในเรื่องที่อภิปราย การที่ผู้เรียนจะอภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นได้มากน้อยแค่ไหน เป็นไปตามเนื้อหาที่จะสอนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับใบงานที่ผู้สอนจัดเตรียม ซึ่งประกอบไปด้วยประเด็นอภิปราย หรือตารางการวิเคราะห์เพื่อให้ผู้เรียนทำได้สำเร็จ

3. ความคิดรวบยอด (concept) เป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับเนื้อหาวิชา หรือเป็นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย (knowledge) เกิดได้หลายทาง เช่น จากการบรรยายของผู้สอน การมอบหมายงานให้อ่านจากเอกสาร ตำรา หรือได้จากการสะท้อนความคิดเห็น และอภิปรายในองค์ประกอบที่ 2 โดยผู้สอนอาจจะสรุปความคิดรวบยอดให้จากการอภิปราย และการนำเสนอของผู้เรียนแต่ละกลุ่ม ผู้เรียนจะเข้าใจและเกิดความคิดรวบยอด ซึ่งความคิดรวบยอดนี้จะส่งผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงเจตคติ หรือความเข้าใจในเนื้อหาขั้นตอนของการฝึกทักษะต่างๆ ที่ช่วยทำให้ผู้เรียนปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

4. การทดลอง/การประยุกต์แนวคิด (experimentation / application) เป็นองค์ประกอบที่ผู้เรียนได้ทดลองใช้ความคิดรวบยอดหรือผลิตขั้นความคิดรวบยอดในรูปแบบต่างๆ เช่น การสนทนา สร้างคำขวัญ ทำแผนภูมิ เล่นบทบาทสมมุติ ฯลฯ หรือเป็นการแสดงถึงผลของความสำเร็จของการเรียนรู้ในองค์ประกอบที่ 1 ถึง 3 ผู้สอนสามารถใช้กิจกรรมในองค์ประกอบนี้ ในการประเมินผลการเรียนการสอนได้ เช่น ถ้าวัตถุประสงค์ของการอบรม ตั้งไว้ว่าให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถวางแผนประเมินโครงการได้ กิจกรรมในการเรียนรู้ขององค์ประกอบนี้ ผู้สอนต้องเตรียมใบงานให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ทดลองทำแผนการประเมินโครงการ ซึ่งผู้เข้ารับการอบรมจะต้องนำความรู้เกี่ยวกับการประเมินโครงการจากการเรียนรู้ในองค์ประกอบความคิดรวบยอดมาใช้
การเรียนการสอน หรือการอบรมส่วนใหญ่ มักจะขาดองค์ประกอบการทดลอง/ประยุกต์
แนวคิด ซึ่งถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่า เป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่ผู้สอนจะได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รู้จักการประยุกต์ใช้ความรู้ ไม่ใช่เรียนแค่รู้ แต่ควรนำไปใช้ได้จริง
ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือการอบรมแบบมีส่วนร่วม จำเป็นต้องจัดกิจกรรมให้ครบทั้ง 4 องค์ประกอบ องค์ประกอบทั้ง 4 มีความสัมพันธ์เป็นไปอย่างมีพลวัตร (dynamic) เกี่ยวข้องมีผลถึงกัน ผู้สอนจะเริ่มจากจุดใดก่อนก็ได้ ส่วนใหญ่จะเริ่มจากประสบการณ์ (experience) หรือความคิดรวบยอด (concept) ซึ่งทั้ง 2 องค์ประกอบจะช่วยให้ผู้เรียนได้ดึงข้อมูลเก่าหรือรับข้อมูลใหม่บางส่วนก่อนเพื่อนำไปสู่การอภิปราย และการประยุกต์ใช้ ระยะเวลาแต่ละองค์ประกอบ ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน ผู้สอนจัดได้ตามความเหมาะสมของกิจกรรมในแต่ละองค์ประกอบ เช่น ถ้าเนื้อหาที่สำคัญมากก็อาจใช้เวลามาก หรือถ้าผู้สอนมีประเด็นในการอภิปรายที่สำคัญและมาก ก็อาจใช้เวลาในการอภิปรายมากกว่าส่วนขององค์ประกอบความคิดรวบยอด

2) การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม (group process)

การเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม (group process) เป็นการเรียนรู้พื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อประกอบไปกับการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ (experimential learning) กระบวนการกลุ่มจะช่วยทำให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมสูงสุด และทำให้บรรลุงานสูงสุด
การมีส่วนร่วมสูงสุด (maximum participation) ของผู้เรียน ขึ้นอยู่กับการออกแบบกลุ่ม
ซึ่งมีตั้งแต่กลุ่มเล็กสุด คือ 2 คน จนกระทั่งกลุ่มใหญ่ กลุ่มแต่ละประเภทมีข้อดี และข้อจำกัดต่างกัน

ผู้เรียนทุกคนควรมีส่วนร่วมในทุกกิจกรรมของแต่ละองค์ประกอบ ฉะนั้นผู้สอนจึงต้องพิจารณาตามจำนวน
ผู้เรียน
การบรรลุงานสูงสุด (maximum performance) ถึงแม้ผู้สอนจะออกแบบกลุ่มให้ผู้เรียน
ทุกคนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมแล้วก็ตาม แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้กลุ่มผู้เรียนบรรลุงานสูงสุดได้ คือ การออกแบบงาน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้สอนจะต้องจัดทำเป็นใบงานที่กำหนดให้กลุ่ม หรือผู้เรียนทำกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ในแผนการสอน สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการบรรลุงาน

สูงสุด ผู้เรียนสามารถกำหนดได้จากการออกแบบงาน ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญของการกำหนดงาน
3 ประการ ดังนี้
1. การกำหนดกิจกรรมที่ชัดเจนว่าจะให้ผู้เรียนแบ่งกลุ่มกันอย่างไร เพื่อทำอะไร ใช้เวลามากน้อยแค่ไหน เมื่อบรรลุงานแล้วจะให้ทำอะไรต่อ เช่น การเสนอผลงานหน้าชั้น
2. การกำหนดบทบาทของกลุ่มหรือสมาชิกให้ชัดเจน โดยทั่วไปกำหนดบทบาทในกลุ่มย่อยควรให้แต่ละกลุ่มมีบทบาทที่แตกต่างกัน เมื่อนำมารวมในกลุ่มใหญ่ จะเกิดการขยายการเรียนรู้ทำให้ใช้เวลาน้อยในการเรียนรู้และไม่น่าเบื่อ การกำหนดบทบาทในแต่ละกลุ่มให้ทำกิจกรรมยังรวมถึงการกำหนดบทบาทของสมาชิกในกลุ่มด้วย เช่น เล่นบทบาทสมมุติ เป็นผู้สังเกตการณ์ หรือเป็นตัวแทนกลุ่มในการนำเสนอผลงานของกลุ่ม
3. การกำหนดโครงสร้างของงานที่ชัดเจน บอกรายละเอียดของกิจกรรมและบทบาทโดยทำเป็นกำหนดงานที่ผู้สอนแจ้งให้แก่ผู้เรียน หรือทำเป็นใบงานมอบให้กับกลุ่ม โดยจัดทำเป็นใบงานหรือใบชี้แจง ซึ่งการออกแบบใบงานหรือใบชี้แจง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มทำงานสำเร็จ โดยมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน หรือสร้างเป็นตารางการวิเคราะห์ให้กลุ่ม
3.1 ใบงาน เป็นข้อความกำหนดงานที่มีรายละเอียด เพื่อให้ผู้เรียนซึ่งส่วนใหญ่จะทำงานในกลุ่มเล็ก หรือกลุ่มย่อยระดมสมองทำงานกลุ่มได้สำเร็จ ผลงานที่ได้จากการทำงานตามที่กำหนดในใบงานจะเป็นข้อสรุปที่มีความลึกซึ้งเป็นไปตามประเด็นที่ผู้สอนต้องการ ใบงานใช้มากในกิจกรรมขององค์ประกอบสะท้อน/อภิปราย และการทดลอง/ประยุกต์แนวคิด และมีผลอย่างมากต่อการทีผู้เรียนจะทำงานได้สำเร็จในเวลาที่จำกัด และตรงตามวัตถุประสงค์
3.2 ใบชี้แจง เป็นคำชี้แจงในการทำกิจกรรมกลุ่ม มีรายละเอียดไม่มากนัก จึงไม่จำเป็นต้องจัดทำเป็นใบงาน ผู้สอนอาจจะเขียนกระดานหรือแผ่นใสให้ผู้เรียนอ่านพร้อมกัน ใช้มากในกิจกรรมขององค์ประกอบประสบการณ์ หรือการประยุกต์แนวคิด ซึ่งใบชี้แจงที่ดี ควรมีลักษณะที่มีข้อความสั้น กะทัดรัด

ได้ใจความ และกำหนดกิจกรรมตรงกับองค์ประกอบ เช่น ให้ผู้เรียนได้นำเสนอประสบการณ์หรือได้ประยุกต์ความคิดรวบยอด

สรุปได้ว่า หลักการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาบุคคลทั้งด้านความรู้ ทัศนคติ และทักษะได้ดีที่สุด ผ่านการสังเคราะห์แบบ meta analysis ซึ่งได้โครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมที่ประกอบด้วยวงจรการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ผสมผสานกับกระบวนการกลุ่ม (group process) เพราะผู้เรียนทุกคนมีประสบการณ์ จึงสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุด หรือแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และช่วยกันทำในสิ่งที่ยาก หรือไม่เคยทำมาก่อนด้วยความมั่นใจ โดยเฉพาะการฝึกอบรมที่อาจมีข้อจำกัดในด้านเวลา

การกำหนดบทบาทของสมาชิก
การกำหนดบทบาท ในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มให้แก่สมาชิกในแต่ละกิจกรรม เพื่อให้สมาชิกได้แสดงบทบาทของตนเองตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย และสมาชิกสามารถสับเปลี่ยนบทบาทกันได้ เพื่อให้สมาชิกทุกคนได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ในทุกบทบาท ดังนี้
1. กำหนดบทบาทในการจัดการเรียนรู้ในกลุ่มให้แก่สมาชิก เพื่อให้สมาชิกได้แสดงบทบาทของตนเองตามบทบาทที่ได้รับมอบหมาย ได้แก่
1.1 ผู้ดำเนินรายการ (moderator) เป็นผู้นำในการสื่อสาร เปิดประเด็นในการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์ความรู้ของสมาชิก ตลอดจนเป็นผู้สรุปประเด็น ไกล่เกลี่ย เมื่อมีความแตกแยกในความคิด
1.2 ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) เป็นผู้สนับสนุนการเรียนแบบร่วมมือของสมาชิกในกลุ่ม นัดหมายเวลาในการทำงานร่วมกันของสมาชิก จัดหาเทคนิค วิธีการ และเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสื่อสารของสมาชิก และยังเป็นผู้มีหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความรู้ของตนเองต่อประเด็นดังกล่าวด้วย
1.3 ผู้บันทึก (note taker) เป็นผู้ดำเนินการบันทึกประเด็นสำคัญที่ได้จากการสนทนา อภิปราย หรือการประชุมของสมาชิก และยังเป็นผู้มีหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความรู้ของตนเองต่อประเด็นดังกล่าวด้วย
1.4 สมาชิก (member) เป็นผู้มีหน้าที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ ความรู้ของตนเองต่อประเด็นดังกล่าว
2. สมาชิกทุกคนปฏิบัติตามกติกาในการร่วมกิจกรรมการแบ่งปันความรู้ด้วยวิธีการเรียนแบบร่วมมือ ได้แก่ สมาชิกทุกคนต้องกระตุ้นให้ทุกคนตระหนักและช่วยสร้างสำนึกของการมีส่วนร่วม การยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง การเห็นความสำคัญของความหลากหลาย และยอมรับว่าทุกคนต่างมีความคิด มีศักยภาพและความสำคัญที่เท่าเทียมกัน
3. ให้สมาชิกมีอิสระในการกำหนดขั้นตอน และระยะเวลาในแต่ละครั้งของการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มของตนเอง สมาชิกสามารถเข้าร่วมกิจกรรมในวันและเวลาใดก็ได้ตามที่สมาชิกส่วนใหญ่ของกลุ่มสะดวก ทั้งนี้จะต้องบรรลุผลสำเร็จตามใบงานที่มอบหมายให้ทำเป็นผลงานของกลุ่ม และส่งผลงานภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้
4. ให้สมาชิกมีการแบ่งปันความรู้ด้วยวิธีการเรียนแบบร่วมมือด้วยการใช้เทคโนโลยีในการแบ่งปันความรู้ต่างๆ ได้แก่ การใช้โปรแกรมสนทนา (chat) การร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านกระดานสนทนา (webboard) และการส่งข้อมูลผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e - mail) ฯลฯ
5. ให้สมาชิกสรุปผลงานที่ได้รับมอบหมายตามใบงานเป็นผลงานกลุ่ม และจัดส่งสรุปผลงานกลุ่มแก่ผู้ดำเนินรายการหลัก (key moderator) ผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (e - mail)


เอกสารอ้างอิง

สาธารณสุข, กระทรวง.กรมสุขภาพจิต. 2544. คู่มือฝึกอบรมแบบมีส่วนร่วม. พิมพ์ครั้งที่ 4
กรุงเทพมหานคร : วงศ์กมล โปรดักชั่น จำกัด.

การทำบรรณานุกรมสนเทศ

การทำบรรณานุกรมสนเทศ คือ การรวบรวมเนื้อหาสาระที่ได้จากการสืบค้นจากแหล่งสารสนเทศต่างๆ
ที่น่าเชื่อถือ และยอมรับได้ในศาสตร์สาขาที่จะทำการวิจัย ทำการสรุป และวิพากษ์ โดยเรียบเรียง หรือบันทึกสิ่งที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรม
การทำบรรณานุกรมสนเทศ จะจัดพิมพ์ในรูปแบบไฟล์เอกสาร หรือ ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ จากโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด ซึ่งวิธีการต่อไปนี้ ไม่ใช่ วิธีการใหม่ แต่เป็นการประยุกต์จากวิธีการบันทึกที่นักวิจัยต่างๆ เคยทำกันมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งทำการบันทึกด้วยการเขียนด้วยลายมือ หรือพิมพ์ดีด ในบัตรขนาด 5X8 นิ้ว หรือ 4x6 นิ้ว หรือ 3x5 นิ้ว

แต่ในปัจจุบันนี้ ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการด้านคอมพิวเตอร์จึงทำให้การจัดเก็บข้อมูลสามารถทำได้โดยง่าย และสะดวกด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในที่นี้ จึงได้แนะนำวิธีการทำบรรณานุกรมสนเทศ ในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อสะดวกในการจัดเก็บ และค้นคืน ดังนี้
1. วัตถุประสงค์
1.1 เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้สารสนเทศอย่างคุ้มค่าจากระบบสารสนเทศที่มี และนำ
สารสนเทศนั้นไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงาน และบริหารงาน
1.2 เพื่อให้นักศึกษาได้มีประสบการณ์ในการสืบค้นสารสนเทศ เพื่อการทบทวน
วรรณกรรม (Literature Review) โดยอ่านจากบทความ ข่าว เอกสารอื่นๆ ด้วย นอกจากงานวิจัยแล้วซึ่งจะทำให้นักศึกษาสามารถหาขอบเขตความสนใจ (Area of Interest ) ในงานวิจัยที่ตนเองสนใจได้ และนักศึกษาจะได้ทราบว่าขอบเขต (area) ที่ตนเองสนใจนี้ มีใครเคยทำวิจัยมาแล้วบ้าง จึงเป็นการสำรวจองค์ความรู้ และเมื่อทบทวนวรรณกรรมแล้ว จะสามารถคิด และจัดกลุ่มองค์ความรู้ได้เป็นชุด (set)
2. วิธีการ
2.1 สืบค้นสารสนเทศจากแหล่งที่เชื่อถือได้ ถูกต้อง และทันสมัยจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศต่างๆ ทั้งแบบ

ออนไลน์ และแบบออฟไลน์
2.2 ศึกษาเอกสาร งานวิจัย บทคัดย่อ หรือหนังสือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อวิจัยที่เราสนใจจากแหล่งทรัพยากรสารสนเทศที่สืบค้นมาได้
2.2.1 ถ้าศึกษาจากบทความ สาระสำคัญในหนังสือ ให้อ่าน เพื่อจับใจความสำคัญ และสรุปย่อในกระดาษ A4 หรือพิมพ์เป็นไฟล์เอกสาร Word และจัดเก็บอย่างมีระบบ เพื่อสะดวกในการค้นคืนใช้งานในโอกาสต่อไป (ถ้าเป็นไฟล์เอกสารword ควรพิมพ์ชื่อโฟลเดอร์: ชื่อไฟล์ที่จัดเก็บไว้ที่หัว/ท้ายกระดาษด้วย)
2.2.2 ถ้าศึกษาจากบทคัดย่อ หรือบทความวิจัย รายงานการวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ ให้อ่านและทำการสรุป ประกอบด้วย
- ชื่อเรื่อง
- วัตถุประสงค์ของการวิจัย
- ระเบียบวิธีวิจัย
- ผลการวิจัย
- สรุป และอภิปรายผล
- วิพากษ์งานวิจัย: เป็นการวิเคราะห์สิ่งที่ได้จากงานวิจัย โดยการวิเคราะห์จุดต่าง น่าสงสัย และสิ่งที่นักศึกษา ต้องการจะศึกษาต่อ
2.2.3 การสืบค้นสารสนเทศจากหนังสือ เอกสารต่างๆ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ ให้ระบุถึงแหล่งที่มา

โดยทำบรรณานุกรม ส่วนการสืบค้นจากฐานข้อมูลออนไลน์ หรือจากเว็บไซต์นั้น ให้ระบุ URL และวันที่สืบค้นด้วย โดยเขียนตามหลักการเขียนบรรณานุกรมตามแต่ละสถาบันกำหนด

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2551

งานมอบหมายสัปดาห์ที่1

สวัสดีค่ะ นักศึกษาทุกคน
วันนี้เป็นการเรียนการสอนของสัปดาห์แรกของภาคการศึกษา ในวิชา 103494 การจัดการฝึกอบรมทางการศึกษา วันแรกเราก็มาทำความตกลงในการเรียนกัน ว่าวิชานี้มีเนื้อหาวิชาอย่างไร มีกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร มีงานอะไรที่ต้องทำส่ง แบ่งเป็นงานกลุ่ม (ย่อย/ใหญ่) งานรายบุคคล การแบ่งน้ำหนักคะแนน สำหรับระหว่างภาค ปลายภาค สำหรับเนื้อหาการเรียนในวันแรก ก็ยังเป็นเนื้อหาที่ไม่ยากนัก เป็นการปูพื้นความรู้ก่อน นักศึกษาที่ไม่ได้มาเรียน 4 คนก็ขอให้ติดตามรับชีสจากหัวหน้าห้อง (bob) เก็บไว้ให้ และติดตามว่าต้องส่งงานอะไรบ้าง ส่วนการแบ่งกลุ่มย่อย ก็แบ่งเรียบร้อยแล้ว มีรายนาม ดังนี้
กลุ่มที่ 1 จิราพร สุดารัตน์ ถาวร ภานุวัฒน์ พิชิตชัย ปฐวี
กลุ่มที่ 2 พรทิพย์ พนิดา จตุรงค์ เจษฎา สมคิด พัลลพ
กลุ่มที่ 3 ตวงรัตน์ นันทิดา สายสุดา สุปราณี ทวี
อาจารย์ขอทบทวนล่ะกันนะ กันลืม.... งานรายบุคคล ที่นศ. มีกำหนดส่ง พุธที่ 11 มิถุนายน 2551 (1ชิ้นงาน) คือ สรุปการเรียนในวันนี้ หัวข้อ ความหมาย ความสำคัญ และประโยชน์ของการฝึกอบรม พร้อมเขียนอ้างอิง/บรรณานุกรม ที่ถูกต้องตามหลัก ที่อาจารย์มอบคู่มือฯ ไปให้ bob นำไปให้เพื่อนๆ ถ่ายเอกสารไว้ ศึกษา
ให้นักศึกษา นำมาส่งที่โต๊ะอาจารย์ ชั้น 2 ห้องคณบดี โต๊ะแรก เปิดไปก็เจอเลย...ส่งก่อนกำหนดได้ แต่ไม่รับงานที่ส่งช้า....นะคะ อาจารย์จะได้มีเวลาตรวจให้ ล่วงหน้า....ส่งข่าวเพื่อนที่ไม่มาเรียนด้วยนะคะ