วันเสาร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

การสืบค้นสารสนเทศทางอินเทอร์เน็ต

นักศึกษาคะ ในการมอบหมายงานที่ให้นักศึกษาสืบค้นบทความ งานวิจัยทางอินเทอร์เน็ต มาสรุปประเด็นส่งนั้น อาจารย์จึงนำส่วนหนึ่งของเอกสารคำสอนของนศ.ป โท วิชาวิจัยฯ มาให้นักศึกษาได้ศึกษาในหลักการ เผื่อว่าจะได้ประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการสืบค้นให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่มีคุณภาพ ดังนี้

การค้นคว้าเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
การค้นคว้าเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาด้วยตนเองแบบ
ใช้มือ (Manual Search) หรือใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสืบค้น (Computer Search) จะต้องเลือกคำสำคัญ และข้อมูลพื้นฐานเพื่อให้ได้รายการที่สมบูรณ์ตรงตามเป้าหมายที่ต้องการ
การค้นคว้าเอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาที่ผู้วิจัยตั้งใจจะหาคำตอบด้วยการวิจัย อาจทำได้หลากหลายวิธี เช่น การอ่านวิทยานิพนธ์ ของผู้สำเร็จการศึกษาไปแล้ว หรือรายงานการวิจัยในห้องสมุดของสถาบันการศึกษา หน่วยงานต่างๆ หรือหอสมุดของสภาวิจัยแห่งชาติ
การสืบค้นจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ปัจจุบันจะสามารถ
กระทำได้สะดวกสบายจากฐานข้อมูล หรือจากเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
ในที่นี้จะเสนอถึงเทคนิคการสืบค้นเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ดังนี้

1. เลือกสืบค้นจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ผ่านทางเว็บไซต์ของห้องสมุดของสถาบันการศึกษา เช่น
1.1 DAO (เป็นฐานข้อมูล ProQuest Dissertation and Thesis คือ ฐานข้อมูลที่รวบรวมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท และปริญญาเอกของสถาบัน การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา และแคนาดา รวมถึงบางสถาบันการศึกษาจากทวีปยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย และแอฟริกามากกว่า 1,000 แห่ง ประกอบไปด้วยวิทยานิพนธ์มากกว่า 2 ล้าน ชื่อเรื่อง)
1.2 ERIC (Education Resources Information center) เป็นฐานข้อมูลทางการศึกษา ฐานข้อมูลเหล่านี้ได้จำแนกเป็นแต่ละสาขา เช่น ด้านการศึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งฐานข้อมูลแบบนี้ไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าใช้โดยเสรี เพราะว่าเป็นฐานข้อมูลที่สถาบันการศึกษามีการเช่าซื้อมา เป็นเครือข่ายผ่านเว็บไซต์ห้องสมุดของแต่ละมหาวิทยาลัย สำหรับอาจารย์/นักศึกษาใช้สืบค้นเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและการศึกษาวิจัย โดยจะต้อง login ผ่าน server มหาวิทยาลัย หรือถ้ามีusername/password ที่ทางมหาวิทยาลัยให้มา ก็สามารถสืบค้นจากสถานที่อื่นๆ ได้ โดยการคีย์ username/password ลงไปตามช่องที่กำหนดไว้บนเว็บเพจของฐานข้อมูลดังกล่าว
บทความที่ได้จากการสืบค้นจากฐานข้อมูลดังกล่าว จะอยู่ในรูปของ Acrobat file สามารถ save ได้ทันที หรือจะพิมพ์ออกมาเลยก็ได้ อีกวิธีหนึ่ง คือ save บทความเหล่านี้ไว้บน folder ที่สร้างขึ้นบท desktop เมื่อได้จำนวนมากพอให้ทำการบีบอัดไฟล์ด้วยโปรแกรม zip หรือ WinRAR แล้วจึงจัดเก็บต่อไป
การเขียนอ้างอิงฐานข้อมูลอ้างอิงอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Reference) ให้ดูจาก
คู่มือการเขียนบรรณานุกรมของบัณฑิตวิทยาลัย หรือสถาบันที่แหล่งเงินทุนการวิจัยกำหนด
2. เลือกสืบค้นจากแหล่งสารสนเทศที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ เว็บไซต์ของสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐ องค์การ หรือสมาคมวิชาชีพต่างๆ (เลือกเว็บไซต์ที่URL ลงท้ายด้วย ac.th, org, gov.) เช่น
2.1 การสืบค้นจากเว็บไซต์ เพื่อเข้าถึงฐานข้อมูลของ ERIC หรือ Educational Resources Information Center เป็นฐานข้อมูลทางการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก สามารถสืบค้นได้ง่ายๆ ที่ Website http://www.eric.ed.gov โดยพิมพ์คำที่ต้องการสืบค้นในช่อง search terms และเลือกกำหนดว่าเป็นคำหลัก (keyword) หรือชื่อเรื่อง (title) หรือผู้เขียน (author) และทำการสืบค้น ซึ่งจะเชื่อมโยง (link) ไปยังหน้าเว็บที่ปรากฏชื่องานวิจัยที่มีคำหลักที่ต้องการสืบค้น และสามารถคลิกเพื่อให้แสดงผลบทคัดย่อฉบับเต็ม (show full abstract)
2.2 การสืบค้นจากเว็บไซต์ของสมาคมวิชาชีพเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
( Association for Educational Communication Technology: AECT)
เว็บไซต์ของ AECT คือ
www.aect.org/ บน homepage จะพบกับเอกสารการ
สัมมนาประจำปีของสมาคมในส่วนที่นักวิจัยสามารถสืบค้นต่อเพื่องานวิจัย คือ ส่วนของ Publications
มีรายชื่อหนังสือและวารสารหลายเล่ม เช่น Educational Media and Technology YEARBOOK, The Handbook of Research for Educational Communications and Technology, Educational Technology Research and Development, Tech Trends, A Code of Professional Ethics, Getting Started in Instructional Technology Research
ในกรณีที่เป็นสมาชิกของ AECT เท่านั้น หนังสือบางเล่มดังกล่าวจะสามารถ
ดาวน์โหลด ได้เต็มฉบับ เช่น เมื่อเลือก Handbook of Research for Educational Communications and Technology และคลิกที่ click here for access to the first edition จะเชื่อมโยงไปที่เว็บไซต์ http://www.aect.org/edtech/ed1/firstedition.asp ซึ่งสมาชิกจะดาวน์โหลด Handbook of Research for Educational Communications and Technology Edited by David H. Jonassen ได้เต็มฉบับในรูปแบบไฟล์ pdf.
สำหรับผู้สืบค้นทั่วไปที่ไม่เป็นสมาชิกของ AECT ในส่วน Publications ให้สังเกตที่มุมซ้าย เมื่อคลิกที่ occasional papers จะมีชื่อบทความให้เลือกอ่าน โดยจะแสดงผลเชื่อมโยงในหน้าเว็บต่อไป
อย่างไรก็ตาม การค้นหาบทความจากวารสาร อาจจะพบอุปสรรคบางประการ ผู้วิจัยควรเรียนรู้วิธีแก้ปัญหา ในกรณีที่ไม่สามารถค้นหาบทความที่ต้องการ วิธีดังกล่าว คือ
1. สอบถามจากเจ้าหน้าที่ห้องสมุดว่า สำนักหอสมุดแห่งใดมีวารสารฉบับที่เราต้องการ เพราะ
หอสมุดหลายๆ แห่งมีข้อตกลงเพื่อแลกเปลี่ยนการยืมระหว่างห้องสมุดได้
2. สั่งซื้อสำเนาบทความผ่านการบริการยืมระหว่างห้องสมุด ( inter-library-loan)
3. ในกรณีของวารสารต่างประเทศ สามารถแสดงความจำนงผ่านสมาคมวิชาชีพโดยตรง
เช่น AECT: Association for Education and Communication Technology, AERA: American Educational Research Association และ APA: American Psychological Association โดยวิธีสืบค้นผ่าน Search Engine ของอินเทอร์เน็ตทุกประเภท
4. สั่งซื้อบทความภาษาอังกฤษผ่านบริษัทนายหน้า เช่น Carl UnCover หรือ ISI Document Solution
5. ติดต่อสำนักพิมพ์ หรือตัวแทนจำหน่ายวารสารเพื่อขอซื้อวารสารเก่า (back issue) ฉบับ
นั้น ๆ
6. กรณีค้นหาบทความใน ERIC ให้ค้นด้วยคำ Psychological Abstracts และ CTIE เพื่อค้นหาบทความที่นำเสนอไปแล้วสามปีว่าได้รับการตีพิมพ์ในวารสารหรือไม่
7. สอบถามบรรณารักษ์ว่า บทความดังกล่าว สามารถสั่งซื้อผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ ในปัจจุบันหอสมุดหลายแห่งในประเทศไทยสามารถเชื่อมโยงกับหอสมุดมหาวิทยาลัยในต่างประเทศได้โดยตรง
8. ค้นคว้าโดยเทคนิคการสืบค้นผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (ดูจากวิธีค้นข้อมูล www.)

นอกจากนี้ มี เทคนิคในการสืบค้นบางประการที่จะเป็นประโยชน์สำหรับนักวิจัยเพื่อใช้สืบค้นให้ได้มาซึ่งสารสนเทศที่มีคุณภาพ ประหยัดเวลา และทรัพยากร ดังนี้
1. การสืบค้นจะมีฐานกว้างขวางยิ่งขึ้น ถ้านักวิจัยอาศัยบรรณานุกรมของบทความสืบค้นต่อไปได้อีกมากมาย
2. สารสนเทศออนไลน์หรือบทความจากวารสารที่นำมาใช้อ้างอิงนั้นควรมีความทันสมัย ไม่ควรเก่าจนเกินไป ไม่ควรเกิน 5 ปี ส่วนสารสนเทศจากหนังสือ ตำราก็ไม่ควรเกิน10 ปี (มีข้อยกเว้นใน text book ที่เป็นแหล่งปฐมภูมิ ฉบับดั้งเดิมของต่างประเทศ เช่น ทฤษฎีการบริหารร่วมสมัย หลักการ ทฤษฎีมักไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงนัก แต่ถ้าเป็นไปได้ก็ควรนำฉบับที่พิมพ์ครั้งล่าสุดมาอ้างอิง เพราะผู้เขียนหรือบรรณาธิการได้มีการปรับปรุงเนื้อหาสาระให้ทันสมัยแล้ว
3. สารสนเทศที่นำมาอ้างอิงต้องพิจารณาจากผู้เขียนบทความ หรือหน่วยงาน/องค์การ/สถาบัน ที่น่าเชื่อถือได้ หรือเป็นที่ยอมรับในศาสตร์นั้น
4. คุณภาพของสารสนเทศ พิจารณาจากความถูกต้อง ตรงประเด็น มีความสัมพันธ์กับเรื่องที่ต้องการศึกษา และมีความทันสมัย
5. เมื่อทำการสืบค้นสารสนเทศมาได้ ควรจะ copy รายละเอียดที่ได้ ลงใน Word document แล้วอย่าลืม copy URL และระบุวันที่สืบค้นได้ไว้ด้วย เพื่อเก็บไว้อ้างอิงในโอกาสต่อไป หรือไม่ก็สั่ง print out เลย แต่วิธีนี้จะสิ้นเปลืองจำนวนหน้ากระดาษมากเพราะว่าเว็บเพจมีกราฟิกประกอบมาก และเต็มไปด้วยตารางที่เป็นส่วนประกอบของเว็บเพจ และบางครั้งการแสดงผลที่หน้าจอกับการ print out ไม่เหมือนกัน อาจต้องตั้งหน้ากระดาษเป็นแนวขวาง เพื่อให้ได้สาระครบถ้วนไม่ตกหล่น โดยมีเนื้อหาที่ตกขอบกระดาษ

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

เปิดเทอมแล้ว...เตรียมตัวพร้อมหรือยังคะ

สวัสดีนักศึกษาทุกคน
เปิดเทอมแล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ปิดเทอมที่ผ่านมาใช้เวลาทำอะไรกันบ้างคะ กลับมากันแล้ว ครบหรือยังนะ มีใครยังติดลมอยู่ เรียกๆ กลับมาได้แล้วนะคะ นักศึกษาคงมีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง ว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร ให้เกิดประโยชน์ และเป็นประสบการณ์ที่ดีกับชีวิตการเป็นนักศึกษาของเราบ้างไหม
การใช้ชีวิตการเป็นนักศึกษาปริญญาตรี เป็นช่วงเวลาที่น่าสนุกมาก และควรจะเก็บเกี่ยวโอกาสดีๆ จากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ การเข้าชมรมสาธารณกุศลต่างๆ หรือการเล่นกีฬา ร่วมกิจกรรมทางศาสนา ก็ล้วนแต่สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตให้นักศึกษา อาจารย์หวังว่านักศึกษาทุกคนจะใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ให้มากที่สุด เพราะเวลาทุกคนมีเท่ากัน เมื่อเราผ่านช่วงเวลานี้ไป เราจะย้อนเวลานั้นกลับมาอีกไม่ได้ การเรียนก็เช่นเดียวกัน อยากให้นักศึกษาให้ความสนใจ ใส่ใจ ตั้งใจให้มาก การมีโอกาสได้เรียนในระดับปริญญาบัณฑิต ในมหาวิทยาลัยปิดเช่นนี้ ดีกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยเปิดมากมาย หลายอย่าง เห็นชัดๆ ก็คือ นักศึกษาเพียงเข้าชั้นเรียนทุกครั้ง ตั้งใจเรียน ร่วมกิจกรรมการเรียนการสอน ทำงานตามมอบหมาย นักศึกษาก็จะได้รับความรู้ไปแบบวิธีลัด อาจารย์แต่ละท่านก่อนจะมาสอนนักศึกษานั้น อาจารย์จะต้องเตรียมการสอนเป็นอย่างดี คล้ายกับเชฟมาปรุงอาหารชั้นดี...เสริฟถึงที่ นักศึกษาจะไม่อยากรับประทานหรือ? จริงไหม ไม่ต้องไปหาเอง ทำเอง ไม่รู้จะอร่อยหรือเปล่า นักศึกษาเพียงเข้าชั้นเรียน และแบ่งเวลาทบทวนบทเรียน ทำงานตามมอบหมาย ยังมีเวลาเหลือพักผ่อน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้อีกมาก ดังนั้น อาจารย์จึงต้องการให้นักศึกษาเข้าชั้นเรียนทุกครั้ง เพราะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเอง ที่จะได้รับความรู้ จากอาจารย์ผู้สอนแบบเต็มที่ มีอะไรสงสัยจะได้ซักถามได้ให้หายข้องใจ อีกอย่างนะคะ การร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนจะทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรง การทำงานร่วมกับเพื่อนนักศึกษา ทำให้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปใช้เมื่อเรียนจบแล้ว จะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ อาจารย์ปรารถนาให้นักศึกษาทุกคนเรียนแบบร่วมมือ (ไม่ใช่ลอกการบ้านนะคะ)
ช่วยเหลือกัน คนที่เก่งก็ช่วยเพื่อนที่เรียนอ่อน อย่าเป็นคนเก่งคนเดียว โดยไม่แบ่งปันความรู้แก่เพื่อน การติวให้เพื่อน ก็ยิ่งช่วยให้ติวเตอร์เก่งมากขึ้น เพราะต้องเตรียมเนื้อหามาติวเพื่อน ไม่มีเสียมีแต่ได้
ถ้านักศึกษาสงสัยในการเรียน ที่อาจพลาดโอกาสในการซักถามในชั้นเรียน หรือพอกลับไปอ่านทบทวนแล้วสงสัย ก็ให้โพสต์ถามได้ ในเว็บบล๊อกนี้ แล้วอาจารย์จะได้ตอบปัญหาให้ และเพื่อนๆ ก็จะได้มาอ่านและแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เป็นเครือข่ายของการแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน และอาจารย์ก็จะแจ้งนัดหมายต่างๆ หรือมอบหมายงานผ่านเว็บบล๊อกนี้ด้วย เพื่อเปิดช่องทางการสื่อสารของเราให้กว้างขวางขึ้น...และครอบคลุม
ขอให้นักศึกษาทุกคนโชคดีในการเรียน ....มีความสุขในชีวิต... ใช้ชีวิตอย่างคุ้มค่า