วันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Welcome to our classroom "Family Education& Safety of Life"

สวัสดีค่ะ ...นักศึกษาทุกคนที่ลงเรียนวิชา 2000-1602 ครอบครัวศึกษาและความปลอดภัยในชีวิตทุกคน

ด้วยเหตุที่อาจารย์จะไม่ได้ประจำอยู่ที่อศน. ทุกวัน จะเข้ามาสอนในวันศุกร์เท่านั้น จึงอาจจะไม่สะดวกในการติดต่อกัน และเพื่อให้มีการแจ้งข่าวสารให้นักศึกษาได้ทราบความเคลื่อนไหวในกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง จึงเปิดช่องทางติดต่อกันผ่านblog นี้

ในสัปดาห์นี้ เป็นการเรียนการสอนในสัปดาห์ที่ 4 แล้วนะคะ กิจกรรมก็ดำเนินไปหลายอย่าง ผู้ที่เข้าเรียนครบก็จะได้มีประสบการณ์การเรียนรู้หลายแบบ ได้แก่ การบรรยายของอาจารย์ การนำเสนอผลงานของเพื่อนๆ เป็นรายกลุ่ม การศึกษาด้วยตนเอง และทำแบบฝึกหัดเพื่อทบทวนบทเรียน แต่สำหรับนศ. คนไหนที่ไม่มาเรียน ก็ให้ติดตามงานด้วย และพิจารณาความเหมาะสมด้วย หากนศ.ขาดเรียน 4 ครั้งนศ. ต้องลงเรียนใหม่ เงื่อนไขนี้ทุกคนคงทราบดี

ส่วนการทำงานกลุ่ม ขอให้นศ ให้ความร่วมมือกับเพื่อนสมาชิก และวางแผนทำงานแต่เนิ่นๆ จะได้ไม่หนักเอาใกล้ๆวันกำหนดส่งงาน ให้เรียนรู้จากข้อผิดพลาดของเพื่อนกลุ่มแรก ที่เป็นแนวหน้า มีเวลาทำน้อยกว่ากลุ่มอื่นๆ เขาจึงต้องลองผิดลองถูก อาจารย์จึงให้เขาไปปรับแก้ไข และให้จัดส่งให้ภายหลัง อยากให้นศ ได้เรียนรู้เวลาที่เราพบข้อบกพร่องของคนอื่นๆ จะได้นำไปปรับใช้ในการทำผลงานกลุ่มตนเอง แต่อาจด้วยประสบการณ์ของนศ.ยังน้อยจึงพบว่า...การทำรายงานของนศ.ยังไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการนัก แต่ไม่ต้องซีเรียส นะคะ ให้ฝึกทำ ต่อไปเราจะได้ทำได้ดีขึ้น (ไม่มีใครเก่งตั้งแต่เกิด เราฝึกฝนได้ ขอให้พยายามล่ะกัน)

อาจารย์ได้ให้เอกสารไปศึกษา และได้อธิบายหลักการเขียนรายงานเชิงวิชาการให้แล้ว รวมถึงการอ้างอิงที่ถูกต้องด้วย ขอให้นำไปใช้ในการทำผลงานกลุ่มของพวกเราด้วยนะคะ ขอให้ตั้งใจในการทำงานกลุ่มด้วยนะคะ เพราะคะแนนที่ให้ในส่วนนี้มากถึง 20 คะแนน ซึ่งอาจารย์ได้ชี้แจงเกณฑ์การให้คะแนนแล้ว แต่เพื่อทบทวนให้ทราบ เพื่อพวกเราจะได้พิจารณาว่าจะทำอย่างไร ให้ได้ผลงานที่ดีสุดตามเกณฑ์ ดังนี้ค่ะ


เกณฑ์การให้คะแนนผลงานกลุ่ม (20 คะแนน)
วิธีการ


1. ให้นักศึกษาจัดแบ่งกลุ่มตามความสมัครใจ กลุ่มละ 5-7 คน ได้แก่

2. อาจารย์มอบหมายหัวข้อเนื้อหาให้นักศึกษาในแต่ละกลุ่มได้ไปศึกษาค้นคว้า รวบรวมสารสนเทศจากแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้อันหลากหลาย และเชื่อถือได้ พร้อมอ้างอิงตามหลักวิชาการ และร่วมมือกันจัดทำเป็นชิ้นงาน ประกอบด้วย สื่อประกอบการนำเสนอ (ภาพพลิกทำด้วย Future Board และมีภาพประกอบ) รูปเล่มรายงาน และการนำเสนอผลงานกลุ่มในชั้นเรียนตามกำหนด


รายการประเมิน คะแนน (เต็ม 20)

1. รายงาน คะแนนเต็ม 10 คะแนน

1.1 เนื้อหาสาระ (6 คะแนน)

1.1.1 ความเป็นเอกภาพของเนื้อหา หมายถึง การนำเสนอรายงานแบ่งเป็นบท/หัวข้อ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ไม่แยกเป็นชั้นๆ 1 คะแนน

1.1.2 ความถูกต้อง-ตรงประเด็น หมายถึง ถูกต้องตามหลักวิชาการ นำเสนอตรงประเด็นไม่วกไปเวียนมาจนหาข้อสรุปไม่ได้ 3 คะแนน

1.1.3 ความสำรวม หมายถึง ผ่านการพิจารณาไตร่ตรองด้วยความละเอียดถี่ถ้วน รอบคอบ และระมัดระวัง ว่าถูกต้อง มีเหตุผลเพียงพอ และไม่ขัดแย้งกัน 1 คะแนน

1.1.4 ยึดผู้อ่าน หมายถึง การที่ผู้เขียนได้พยายามอธิบายด้วยการใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย มีเนื้อหาสาระเพียงพอที่ผู้อื่นอ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ 1 คะแนน


1.2 การจัดรูปแบบ (2 คะแนน)

1.2.1 รูปแบบเหมาะสม หมายถึง การจัดรูปแบบการพิมพ์ในรูปแบบเดียวกันสอดคล้องกันทั้งเล่ม มีหัวข้อหลัก หัวข้อรอง หัวข้อย่อย มีเลข-ตัวอักษรกำกับหัวข้อที่เป็นรูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม 1 คะแนน

1.2.2 ส่วนประกอบของรายงานครบถ้วน ได้แก่ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนอ้างอิง 1 คะแนน

1.3 การใช้ภาษา (2 คะแนน)

1.3.1 ความแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึง อ่านได้ใจความชัดเจน เขียนด้วยประโยคที่สมบูรณ์ กะทัดรัด ได้ใจความ ใช้ภาษาที่ถูกต้อง คงเส้นคงวา สุภาพ และ
ไม่สะดุด-ติดขัด 1 คะแนน

1.3.2 การใช้ภาษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เช่น การเขียนสะกด การันต์ถูกต้อง ไม่ใช้ภาษาพูดมาเป็นภาษาเขียน ฯลฯ 1 คะแนน

2. สื่อประกอบการนำเสนอ คะแนนเต็ม 5 คะแนน

2.1 สาระครบถ้วน สมบูรณ์ (2 คะแนน)

2.2 ออกแบบเหมาะสม สวยงาม 2 คะแนน

2.3 สะดวกต่อการนำไปใช้งาน 1 คะแนน


3. การนำเสนอผลงาน คะแนนเต็ม 5 คะแนน

3.1 เทคนิคการนำเสนอ (3 คะแนน)

3.1.1 ใช้ภาษา ถูกต้อง ชัดเจน และเหมาะสม 1 คะแนน

3.1.2 สามารถถ่ายทอดให้เข้าใจได้ง่าย 1 คะแนน

3.1.3 สามารถทำให้ผู้ฟังรับฟังด้วยความตั้งใจ และมีส่วนร่วม 1 คะแนน


3.2 การตรงต่อเวลา (2 คะแนน)

3.2.1 จัดส่งรายงานตามกำหนดเวลา 1 คะแนน

3.2.2 นำเสนอ โดยใช้สื่อประกอบการนำเสนอตามกำหนดเวลา 1 คะแนน

ท้ายสุดนี้ ให้นักศึกษามีความสุขในการเรียน และอย่าเครียดมาก