วันพฤหัสบดีที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

การเขียนรายงานเชิงวิชาการ

ดร. สุภณิดา ปุสุรินทร์คำ
การเขียนรายงานเป็นการนำเสนอผลจากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย จึงจำเป็นต้องมีระบบการนำเสนอที่มีหลักการ มีเหตุมีผล และผู้เขียนรายงานนั้น จะต้องอาศัยความรอบรู้ ประสบการณ์ ทักษะ และการหมั่นฝึกฝนการเขียนอยู่เสมอ เพื่อให้รายงานทางวิชาการที่เขียนขึ้นมีคุณภาพ เชื่อถือได้ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง
ในที่นี้ ผู้เขียนจะนำเสนอ สาระสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับการเขียนรายงานเชิงวิชาการ ดังนี้
รายงานเชิงวิชาการ เป็นรายงานที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ซึ่งมีระเบียบวิธีการที่เป็นระบบ และมีลักษณะเป็นวิทยาศาสตร์ เนื้อหาของรายงานมุ่งเสนอแต่ผลที่ได้จากการศึกษา ค้นคว้า ไม่มีการต่อเติม เสริมแต่งความรู้สึกนึกคิดของผู้รายงานรวมเข้าไปด้วยแต่อย่างใด
รายงานประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ
1. ส่วนนำ (Preliminary Materials) เป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอรายงานเชิงวิชาการนั้น
2. ส่วนเนื้อเรื่อง (Body of Report) เป็นส่วนที่จะกล่าวถึงเนื้อเรื่องของรายงานเชิงวิชาการนั้นทั้งหมด
3. ส่วนอ้างอิง (Reference Materials) เป็นส่วนประกอบเพิ่มเติมให้รายงานเชิงวิชาการนั้นครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ขั้นตอนการเขียนรายงาน
ผู้เขียนรายงานวิชาการ ควรเริ่มการดำเนินกาอย่างเป็นขั้นตอน ตามลำดับเพื่อสะดวกในการเขียน ได้แก่ กำหนดหัวข้อเรื่อง กำหนดขอบเขตและทำความเข้าใจกับหัวข้อเรื่อง วางโครงเรื่อง รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร/แหล่งสารสนเทศต่างๆ รวบรวมข้อมูลภาคสนาม เขียนฉบับร่าง แก้ไขและขัดเกลา ส่งให้เพื่อน และผู้รู้อ่าน เพื่อวิจารณ์ และขั้นสุดท้าย คือ เขียนฉบับสมบูรณ์

หลักการเขียนรายงาน
1. การจัดรูปแบบ หมายถึง ถูกต้องตามหลักวิชาการ ตามมหาวิทยาลัย/สถาบันได้กำหนด โดยมีหัวข้อใหญ่ หัวข้อรอง หัวข้อย่อย โดยจัดวางสอดคล้อง
กันทั้งเล่ม เช่น กำหนดเลข-ตัวอักษรกำกับหัวข้อในรูปแบบเดียวกันทั้งเล่ม

หัวข้อใหญ่ (ตัวอักษรหนาดำ 16 Point)
1. หัวข้อรอง (ตัวอักษรหนาดำ 16 Point)
1.1 หัวข้อย่อย
1.1.1 หัวข้อย่อย
1.1.1.1 หัวข้อย่อย
ก.
ข.
1)
2)
3)

2. ความเป็นเอกภาพของเนื้อหา หมายถึง การเรียบเรียงเนื้อหาในรายงานตั้งแต่ต้นจนจบจะต้องดำเนินไปอย่างสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันตลอด ไม่ว่าจะแบ่งเป็นบท หรือเป็นหัวข้อ แต่ละบท แต่ละหัวข้อจะต้องสอดคล้องต่อเนื่องกันกับบทหรือหัวข้ออื่นๆ ต่อๆ กันไป ไม่ควรนำเพียงแต่ข้อมูล เนื้อหาต่างๆ มาปะติดปะต่อกัน
3. ความแจ่มแจ้งชัดเจน หมายถึง ข้อความทุกประโยค ทุกหัวข้อ ทุกตอนจะต้องแจ่มแจ้ง และอ่านได้ใจความชัดเจน เขียนด้วยประโยคสมบูรณ์ สั้นกระทัดรัด ได้ใจความ และการใช้ภาษาในการเขียนรายงาน มีความถูกต้อง ได้สาระสมบูรณ์ ชัดเจน กะทัดรัด ลำดับความดี แต่ละวรรคตอนเป็นเอกภาพ ความแต่ละวรรคตอน เชื่อมโยงกลมกลืนสัมพันธ์กันดี คงเส้นคงวา ตรงประเด็นตรงจุด ถ้อยคำมีเหตุผลน่าเชื่อถือได้ สุภาพ และลื่นไหล ไม่สะดุด-ติดขัด
4. ความถูกต้อง หมายถึง เนื้อหา ภาษาที่ใช้จะต้องถูกต้องตามหลักวิชาและมีเหตุมีผล
5. ตรงประเด็น หมายถึง เรียบเรียงข้อความ เนื้อหาให้ตรงประเด็นที่ต้องการเสนอ ต้องการอะไร ให้นำเสนอไปอย่างนั้น ไม่ต้องเขียนวกวนไปเวียนมา จนหาข้อสรุปไม่ได้ และไม่ควรตั้งหัวข้ออย่างหนึ่ง แล้วเขียนไปอีกอย่างหนึ่ง
6. ความสำรวม หมายถึง ข้อความทุกข้อความ ทุกประโยค หรือทุกตัวอักษรที่เขียนในรายงานต้องสำรวม ระมัดระวัง พิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน และรอบคอบแล้วว่า มีความถูกต้อง มีเหตุผลเพียงพอ และไม่ขัดแย้งกัน
7. การอ้างอิง หมายถึง การอ้างอิงต้องทำอย่างถูกต้องตามสากลนิยม ถูกต้องตามหลักการ ทั้งนี้ให้ยึดเกณฑ์ของมหาวิทยาลัย/สถาบันกำหนด และผู้เขียนรายงาน พึงตระหนักถึงจรรยาบรรณ เมื่อมีการอ้างอิงผลงานของผู้อื่นต้องอ้างอิงถึงเจ้าของผลงานทุกครั้ง
8. ยึดผู้อ่าน หมายถึง การเขียนรายงานที่ผู้เขียนต้องพยายามอธิบาย บรรยายด้วยภาษาที่ง่าย และให้มีเนื้อหาอย่างเพียงพอที่ผู้อื่นมาอ่านแล้วเขาจะสามารถทำความเข้าใจได้ พึงระลึกว่า “เราเขียนให้ผู้อื่นอ่านมิใช่ให้ตนเองอ่าน”
9. ทันสมัย หมายถึง เนื้อหาสาระในรายงานมีความทันสมัย ทันกาล มีการปรับเปลี่ยนให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบันในเชิงวิชาการ การพัฒนาในศาสตร์สาขานั้นๆ

สรุป
การเขียนรายงานเชิงวิชาการให้มีคุณภาพได้นั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนตามลำดับ ศึกษา ค้นคว้าสารสนเทศจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้ เช่น เป็นผลงานของสถาบัน/องค์กรที่เชื่อถือได้ เป็นผลงานของบุคคลที่ได้รับการยอมรับในศาสตร์สาขานั้นๆ ฯลฯ และผู้เขียนรายงานจะต้องหมั่นฝึกฝนทักษะในการอ่าน วิเคราะห์ สังเคราะห์ และทักษะการเขียน และทำการเขียนรายงานโดยยึดหลักการเขียนรายงานที่ถูกต้อง
นอกจากนี้ การนำเอกสาร หรือสารสนเทศจากแหล่งต่างๆ มาทำการศึกษาจึงควรพิจารณาในเงื่อนไขด้านเวลาด้วย เช่น การอ้างอิงจากหนังสือไม่ควรเกิน 10 ปี จากเว็บไซต์ หรือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ควรเกิน 5 ปี และจากรายงานวิจัยไม่ควรเกิน 5 ปี

วันเสาร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กำหนดการนำเสนอโครงการ

สวัสดีค่ะ นักศึกษาเทคโนฯ ทุกคน
อาจารย์แจ้งกำหนดการนำเสนอโครงการ รายกลุ่ม(ย่อย) ในวันศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2551 นะคะ แล้วพวกเราจะพิจารณาร่วมกันว่าโครงการของกลุ่มไหน มีความเหมาะสม เป็นไปได้สูง คุ้มค่าที่สุด ที่จะได้รับเลือกไปจัดฝึกอบรม ซึ่งเป็นงานกลุ่มใหญ่ ที่นักศึกษาทุกคนต้องช่วยกันดำเนินการให้ลุล่วงด้วยดี ทั้งด้านการบริหารโครงการ ก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการฝึกอบรม ทำการประเมินผลฯ พร้อมสรุปผลการประเมินผลการดำเนินการจัดฝึกอบรมด้วย ทั้งนี้จะทำเป็นรูปเล่มรายงาน
ช่วงนี้เราจะมีกิจกรรมการทัศนศึกษาในวันที่ 14-15 สิงหาคมนี้ ที่กทม และไปพักผ่อนชายทะเลที่สถานพักตากอากาศบางละมุง ก็ให้นักศึกษาเร่งเคลียร์งานของแต่ละวิชาให้ดี อะไรที่พอจะจัดทำล่วงหน้าไว้ก่อนได้ก็ให้ทำซะ บริหารเวลาให้ดี อย่าให้ต้องไปเที่ยวแบบมีห่วงหน้าพะวงหลัง หรืองานค้างต้องมารีบลุยงานเพื่อให้ทันส่ง อาจารย์หวังว่าทุกคนจะรับผิดชอบตัวเองได้ แบ่งเวลาในการเรียนและทำกิจกรรมได้เหมาะสม
อาจารย์ขอฝากเรื่องแต่งกายด้วย ให้นักศึกษาแต่งชุดนักศึกษาที่ถูกระเบียบ (ห้ามใส่เสื้อชอป กางเกง กระโปรงยีนส์ ใส่รองเท้าแตะ) ในการไปศึกษาดูงานของเรา โดยเฉพาะเราเป็นรุ่นพี่เมื่อไปกับรุ่นน้องต้องแต่งตัวให้มีบุคลิกลักษณะที่เป็นแบบอย่างให้น้องได้ วางตัวให้เหมาะสมกับเป็นนักศึกษาในวิชาชีพครูซึ่งเป็นวิชาชีพชั้นสูง อยากให้พวกเราภูมิใจในสถาบัน การที่ได้แต่งชุดนักศึกษาถือว่าเป็นชุดที่มีเกียรติ ดังนั้นนักศึกษาควรตระหนักด้วยในเรื่องนี้
อาจารย์เข้าใจว่า บางทีคนเราก็อยากแต่งตัวสบายๆ แต่ต้องให้ถูกกาละเทศะด้วย เวลาไม่มีเรียน นอกเวลาราชการ นอกสถาบัน ในเวลาพักผ่อนของเราๆ จะแต่งยังไงก็ไม่ว่าหรอก เต็มที่เลย แฟชั่นได้เต็มที่ แต่ขอแค่ให้ถูกกาละเทศะ เวลามาเรียน หรืออยู่ในสถานที่ราชการ นักศึกษาต้องรู้ว่าเราควรทำอย่างไรนะคะ ต่อไปก็หวังว่าจะไม่มีใครที่แต่งตัวไม่เรียบร้อยมาเรียนให้อาจารย์เห็นนะคะ ไม่อยากให้ใครมาว่านักศึกษาโปรแกรมเทคโนฯ ให้เขาไปยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยอื่นล่ะกัน คิดว่าคงไม่หนักหนาเกินไปนะ ในเรื่องนี้ที่เราจะทำให้ถูกต้องตามระเบียบ พวกเราน่ารักอยู่แล้ว แค่นี้จิ๊บๆๆ ใช่ไหม

วันเสาร์ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

แจ้งเรื่องงาน

นักศึกษาเทคโนฯทุกคน
ช่วงนี้วันหยุดก็เยอะนะคะ และที่จะหยุดเรียนครั้งหน้าศ. 18 ก.ค.51 ก็อย่ากลับบ้าน ทำบุญ- เที่ยวเพลินจนลืมทำงานส่งด้วยละ ต่อไปก็มีงานกลุ่มที่ต้องช่วยกันทำโครงการฝึกอบรม อย่าใจเย็นมากนะคะ เดี๋ยวจะทำไม่ทัน วันศุกร์ที่ 25 อย่ามามือเปล่านะ มาเปล่าๆ ก็กลับไปเปล่าๆ พออีกสัปดาห์จะต้องนำเสนอจะไม่มีอะไรมานำเสนอ หวังว่าพวกเราจะช่วยเหลือกันทำงานกลุ่มโดยไม่กินแรงเพื่อน ขอให้อย่ามีประเภท "ขอฝากชื่อด้วยคน" นะคะ
งานที่ต้องส่งตามกำหนดอีกครั้งคือ จันทร์ที่ 14 (รายบุคคล) และงานกลุ่มที่ส่งหัวเรื่องโครงการ ก็ขอให้ส่งตามกำหนดนะคะ
การสืบค้นงานวิจัยเกี่ยวกับTNA, TNI ให้นักศึกษาค้นในThailis ก็ได้ โดยใช้คำค้น "ความต้องการในการฝึกอบรม" มีออกมามากมาย ส่วนงานวิจัยต่างประเทศหาในฐานข้อมูล ERIC ก็ได้ มีเยอะแยะเช่นเดียวกัน

วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

7 ก.ค.51

นศ. ที่น่ารักทุกคน
ต้องขอชื่นชมนักศึกษาที่ขยัน ตั้งใจทำงานส่งครบตามกำหนด จะผิดก็ไม่เป็นไร แก้ไขได้ และอาจารย์ก็จะได้เห็นพัฒนาการด้วยว่าเป็นอย่างไร เรียนเข้าใจไหม ส่วนบางคนที่ทำงานส่งช้า ตกหล่น ก็เปิดโอกาสให้รีบเก็บตกส่งให้ครบในวันพฤหัสที่ 10 นี้ เลยกว่านี้อาจารย์จะไม่รับแล้วนะ เพราะนี่ก็เกรงใจคนที่เขาส่งตามเวลา เขาจะเสียโอกาส แต่พวกเราก็รักกันดียอมให้เพื่อนส่งช้า เก็บตกได้ ถือเป็นความน่ารักอย่างหนึ่งของพวกเรา เอาน่า .... ช่วยๆกัน ใครเรียนช้าไม่ทัน ก็ถามเพื่อนที่เขาเก่งๆ ทำงานออกมาใช้ได้ เช่น พัลลภ ภานุวัฒน์ ตวงรัตน์ ก็ช่วยแนะนำเพื่อนที่ทำงานไม่ทันด้วยนะคะ
ภาระงานจะเริ่มมากขึ้นๆ เวลาน้อยลงทุกที กิจกรรมอื่นๆ ก็เข้ามาอีก ที่กระทบเวลาเรียน ก็เช่นวันหยุด และวันไปศึกษาดูงานพฤ14-ศ15 ส.ค.51 หลายคนถามทำไมไปน้อยจัง อยากไปตั้งแต่พุธเลย เพราะว่าไม่มีเรียน ก็เพราะ11-13 สค. อาจารย์ทุกคนในโปรแกรมติดภารกิจเป็นวิทยากรอบรมครูฯ ยังไงก่อนไปก็คงต้องคุยกันอีกก่อนไปดูงาน ไม่ใช่ไปสนุกอย่างเดียวนะ ต้องได้ประโยชน์เชิงวิชาการด้วย
ก่อนจบ..ก็ให้นักศึกษารักษาสุขภาพด้วยละกัน ช่วงนี้อากาศร้อน ให้ระมัดระวังเรื่องอาหาร นี่อาจารย์ก็ยังไม่หายดีเลย อาหารเป็นพิษ ปวดท้อง ไข้ขึ้นทุก4 -5 ชั่วโมง พอทานยา ไข้ลด ก็ลุกมาทำงาน ไม่ต้องดีใจว่าจะหยุดเรียนนะคะ อาจารย์หายป่วยทันอยู่แล้วเราพบกันในชั้นเรียนวันศุกร์นะคะ